ไปยังหน้า : |
ปัญหาสำคัญที่มักหนีไม่พ้น เมื่อพูดเรื่องนิพพาน คือ พระอรหันต์ สิ้นชีพแล้ว เป็นอย่างไร หรือว่า ผู้บรรลุนิพพานตายแล้วเป็นอย่างไร ยังมีอยู่ต่อไปหรือไม่ ดังนี้เป็นต้น
ความจริง ปัญหาอย่างนี้ก็วนเวียนอยู่กับเรื่องอัตตานั่นเอง กล่าวคือ ผู้ถามปัญหาอย่างนี้ มีความรู้สึกติดอัตตาแฝงลึกอยู่ในใจ เป็นแรงผลักดันและเป็นแกนสำหรับก่อรูปเป็นคำถามขึ้น ความยึดติดในอัตตา หรือเรียกให้เต็มว่า ความถือมั่นวาทะว่ามีว่าเป็นอัตตา (อัตตวาทุปาทาน) พูดสั้นๆ ว่า ทิฏฐิถืออัตตานี้ ฝังลึกและแน่นแฟ้นในใจของปุถุชน โดยมีภวตัณหาคอยหนุน และอวิชชาเป็นฐานให้
ในทางปฏิบัติ เมื่อยังไม่ดำเนินตามวิธีแก้ไขที่ตัวเหตุ คือทำลายอวิชชา ตัณหา และอุปาทาน เสียโดยตรง ท่านจะไม่สนับสนุนให้มาถกเถียงเรื่องเช่นนี้ คือ ต้องการให้รู้ด้วยทำ ไม่ใช่เอามาพูดเดากันไป การถกเถียงเรื่องนี้ มีข้อเสียที่สำคัญ คือ ไม่ว่าจะพูดกันอย่างไร ความถือมั่นในอัตตวาทะที่แฝงลึกซึ้ง ซึ่งยังถอนทิ้งไม่ได้นั้น จะทำให้มองคำตอบหรือคำชี้แจงเอียงไป ณ ที่สุดข้างใดข้างหนึ่งเสมอ คือ ถ้าไม่มองเห็นนิพพานเป็นความเที่ยงแท้ยั่งยืนของอัตตา (สัสสตทิฏฐิ) ก็ต้องมองเป็นความขาดสูญของอัตตา (อุจเฉททิฏฐิ) ซึ่งไม่ถูกต้องทั้งสองอย่าง
พวกที่ถือความเห็นขาดสูญ ก็มองนิพพานเป็นความขาดสูญ เข้ากับความเห็นของพวกตน ซึ่งมองได้ค่อนข้างง่าย เพราะพุทธศาสนาเน้นการแก้ไขด้านที่คนติดพันหลงใหลกันมาก คือด้านการยึดถือที่จะให้ถาวรมั่นคง1025 พวกที่ถือความเห็นเที่ยงแท้ยั่งยืนนั้น เมื่อถูกปฏิเสธเรื่องอัตตา ก็เที่ยวมองหาภาวะอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่จะเข้ามาทดแทน ช่วยเติมหรือสนองความขาดแคลนอัตตา หรือหล่อเลี้ยงอัตตาไว้ให้คืนคง เมื่อได้รับคำสอนให้ถอนความยึดอัตตาไปแล้ว ก็เหมือนสูญเสียอัตตาไป พอพูดถึงนิพพาน ก็จึงได้โอกาสเหนี่ยวเอานิพพานเป็นที่พึ่งที่ฝากอัตตาเอาไว้ บ้างก็ขยายนิพพานเป็นชีวิตนิรันดร ตลอดจนเป็นมหานครเมืองแก้ว
ท่านผู้ประเสริฐ มีปัญญาเลิศทั้งหลาย แม้ว่าจะผ่านพ้นความยึดติดถือมั่นอะไรๆ มามากมาย จวนจะหมดอยู่แล้ว ก็มาติดเยื่อใยสุดท้ายกันอยู่ที่นี้ หากพ้นใยข่ายนี้ไปได้ ก็จะเป็นอิสระได้โดยสมบูรณ์ แต่ทางธรรมก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากเหลือเกิน ท่านจึงเรียกความยึดติดอย่างละเอียดนี้ว่าเป็น “พรหมชาละ” แปลว่า ข่ายดักพรหม หรือที่ติดข้องของบุคคลชั้นเลิศ คือผู้มีคุณธรรมและปัญญายวดยิ่งแล้ว ยังไม่อาจรอดพ้นไปได้
ด้วยเหตุนี้ เพื่อผ่อนเบาความหมกมุ่นครุ่นคิดในการหาความจริงเกี่ยวกับนิพพาน โดยเชิงเหตุผลและการถกเถียงแบบปรัชญา ท่านจึงมักกล่าวถึงนิพพานแต่ในเชิงปฏิบัติ เกี่ยวกับชีวิตจริง หรือประโยชน์ที่จะได้รับในชีวิตประจำวัน ดังคำสอนเกี่ยวกับนิพพานที่ปรากฏโดยมากในพระไตรปิฎก
นอกจากนั้น มีข้อที่ต้องย้ำไว้เสมอ เพื่อป้องกันความคิดเลยเถิดไป คือย้ำว่า การปฏิบัติเกี่ยวกับนิพพานก็ดี นิพพานก็ดี ไม่ใช่เรื่องของการดับอัตตา หรือทำลายอัตตา เพราะไม่มีอัตตาที่จะต้องไปดับหรือไปทำลาย1026 สิ่งที่จะต้องดับหรือทำลาย คือความยึดมั่นในอัตตา หรือภาพอัตตาที่สร้างขึ้นมายึดถือไว้
ดังที่เคยอธิบาย และยกตัวอย่างหลายครั้ง ที่ท่านเรียกพระอรหันต์ว่า “ผู้ละอัตตา” (อัตตัญชหะ) เป็นต้นนั้น เป็นการใช้คำที่สะดวกในการเรียกขาน อย่างเช่นในคำประพันธ์ โดยรู้กันว่าละความยึดมั่นในเรื่องอัตตา