| |
ถ้าการศึกษาพัฒนาคนให้มีความสุขด้วยฉันทะได้ จริยธรรมไม่หนีไปไหน  |   |  

ถึงตรงนี้ก็จะต้องเน้นด้วยว่า การพัฒนาความสุขนั้น เป็นการพัฒนาชีวิต เป็นการพัฒนาสังคม และเป็นการพัฒนาธรรมอย่างอื่นๆ ไปด้วยพร้อมทั้งหมด

โดยเฉพาะที่เรามักพูดกันบ่อยๆ เวลาพูดถึงเรื่องศาสนา คือเรื่องจริยธรรม บางทีก็พูดคู่กันว่า “ศาสนากับจริยธรรม” โดยโยงเรื่องจริยธรรมไปเป็นเรื่องของศาสนา

เมื่อโยงอย่างนี้ ก็ต้องบอกด้วยว่า การพัฒนาความสุขนั่นแหละ เป็นการพัฒนาจริยธรรม และในทางกลับกัน การพัฒนาจริยธรรม ก็ต้องเป็นการพัฒนาความสุข

ทั้งนี้ ถ้าทำถูกต้อง ก็จะรู้ความหมายที่แท้ ทั้งของจริยธรรม และของความสุขด้วย

ในเมื่อพูดถึงจริยธรรม ก็เลยขอตั้งข้อสังเกตแทรกไว้เป็นพิเศษ ว่า จริยธรรมในความหมายที่เราใช้กันนี้ มักจะเป็นไปในเชิงที่ให้เกิดความรู้สึกค่อนข้างจะฝืนใจทำ

อย่างเช่นจะให้คนประพฤติดี ก็คิดกันพูดกันว่า ต้องไม่ทำโน่น ต้องไม่ทำนี่ ที่เป็นการเสียหาย ไม่ทำบาป ไม่ทำชั่ว มักให้เกิดความรู้สึกเหมือนกับว่า ฝืนใจ หรือจำใจต้องทำ

ทีนี้ ถ้ามองตามหลักธรรมที่แท้ การพัฒนาจริยธรรมก็เป็นด้านหนึ่งของการพัฒนาความสุข ถ้าเป็นจริยธรรมที่แท้ ก็ต้องเป็นจริยธรรมแห่งความสุข ถ้าเป็นจริยธรรมที่ “ฝืนใจ” หรือเป็นไปด้วยทุกข์ ก็ยังเป็น จริยธรรมจริงไม่ได้ เอาดีไม่ได้ และจะไปได้ไม่ไกล ก้าวไม่ถึงไหน

ที่ว่านี้ มิใช่หมายความว่า จริยธรรมจะไม่มีการฝืนใจเสียเลย ก็มีบ้าง และที่จะมีการฝืนใจนั้น ก็มี ๒ อย่าง คือ

ก) ในขั้นต้นๆ อาจมีการฝืนบ้าง เหมือนในการบวก อาจมีลบบ้าง แต่พอเข้าทางดีแล้ว เป็นจริยธรรมแท้ เป็นนักฝึก ที่ก้าวหน้า ก็บวกไปๆ ของที่ร้าย ก็หลุดหาย ไม่ต้องมัวลบ เพิ่มขึ้นมาๆ ก็แจกกันไปๆ จนเต็มแล้ว ก็แจกออกไป ให้อย่างเดียว

ข) เป็นเรื่องเกี่ยวกับความแตกต่างกันของมนุษย์ สำหรับคนพวกหนึ่ง ที่พระเรียกว่า พวก “ทุกขา ปฏิปทา” ก็จะฝืนใจมากสักหน่อย แต่พอเต็มใจฝืน อยากฝืนตัวเอง ก็กลายเป็นฝึก แทนที่จะทุกข์ที่ต้องฝืน ก็กลายเป็นสุขที่ได้ฝึก ทีนี้ก็เดินหน้าได้ และอาจจะไปถึงขั้นดี

อันนี้ก็ขอตั้งเป็นข้อสังเกตสำคัญไว้

เมื่อพูดถึงจริยธรรมแล้ว ก็โยงไปถึงการศึกษา ก็เลยซ้อนเข้ามาด้วย คือคนเรานี้ ทางพระท่านเรียกว่าเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก จะดีเลิศประเสริฐได้ ก็ด้วยการฝึก

การฝึก ก็คือศึกษา ศึกษา ก็คือพัฒนา พัฒนาชีวิตด้วยการศึกษา โดยคนต้องฝึกตนให้ดียิ่งขึ้น เอาดีได้ด้วยการฝึก จะอยู่แค่สัญชาตญาณไม่ได้ จึงเรียกว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์

ในเมื่อธรรมชาติของมนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก จะดีจะเลิศจะประเสริฐได้ด้วยการฝึก ก็แสดงว่า การศึกษาเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ เป็นธรรมชาติของมนุษย์อย่างนั้นเอง ที่จะต้องเจริญงอกงามขึ้นไปด้วยการศึกษา จึงย้ำไว้ให้ชัดอีกทีว่า “มนุษย์ คือสัตว์ที่ต้องศึกษา”

ทีนี้ ถ้าการศึกษาเดินไปถูกทาง เป็นไปด้วยดี ก็จะต้องเป็นการศึกษาที่มีความสุข คือศึกษาด้วยความสุข หรือเป็นการศึกษาแห่งความสุข ถ้าคนไม่มีความสุข ก็ต้องสงสัยว่ายังไม่ใช่การศึกษาที่แท้ ยังไม่ใช่การศึกษาที่ถูกต้อง


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |