ไปยังหน้า : |
๑. องค์ประกอบ หรือสิ่งที่ร่วมอยู่ในกระบวนการปฏิบัตินี้ มี ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายที่ทำ (ตัวทำการ ที่คอยสังเกตตามดูรู้ทัน) กับฝ่ายที่ถูกทำ (สิ่งที่ถูกสังเกตตามดูรู้ทัน)
ก) องค์ประกอบฝ่ายที่ถูกทำ คือ สภาวะที่ถูกมอง หรือถูกตามดูรู้ทัน ได้แก่ สิ่งธรรมดาสามัญ คือทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่กับตัวของทุกคนนั่นเอง เช่น ร่างกาย การเคลื่อนไหวของร่างกาย ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เป็นปัจจุบัน คือกำลังเกิดขึ้น เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
ข) องค์ประกอบฝ่ายที่ทำ คือ องค์ธรรมที่ถึงที่ทันอยู่ต่อหน้ากับสิ่งนั้นๆ ไม่คลาดคลา ไม่ทิ้งไป คอยตามดูรู้ทัน เป็นองค์ธรรมหลักของสติปัฏฐาน ได้แก่ สติ กับ สัมปชัญญะ
สติ เป็นตัวดึงตัวเกาะจับสิ่งที่จะมองจะดูจะรู้เอาไว้ สัมปชัญญะ คือปัญญา ที่รู้ชัดต่อสิ่งหรืออาการ ที่ถูกมอง หรือตามดูนั้น โดยตระหนักว่า คืออะไร เป็นอย่างไร มีความมุ่งหมายอย่างไร เช่น ขณะที่เดิน ก็มีสติให้ใจอยู่พร้อมหน้ากับการเดิน และมีสัมปชัญญะที่รู้พร้อมอยู่กับตัวว่า กำลังเดินไปไหน อย่างไร เพื่ออะไร รู้ตระหนักภาวะและสภาพของผู้เดิน และสิ่งที่เกี่ยวข้องในการเดินนั้น เป็นต้น เข้าใจสิ่งนั้นหรือการกระทำนั้นตามความเป็นจริง โดยไม่เอาความรู้สึกชอบใจหรือไม่ชอบใจเป็นต้นของตน เข้าไปปะปนหรือปรุงแต่ง
มีข้อควรระวังที่ควรย้ำไว้ เกี่ยวกับความเข้าใจผิดที่อาจเป็นเหตุให้ปฏิบัติผิดพลาดเสียผลได้ กล่าวคือ บางคนเข้าใจความหมายของคำแปล “สติ” ที่ว่าระลึกได้ และ “สัมปชัญญะ” ที่ว่ารู้ตัว ผิดพลาดไป โดยเอาสติมากำหนดนึกถึงตนเอง และรู้สึกตัวว่า ฉันกำลังทำนั่นทำนี่ กลายเป็นการสร้างภาพตัวตนขึ้นมา แล้วจิตก็ไปจดจ่ออยู่กับภาพตัวตนอันนั้น เกิดความเกร็งตัวขึ้นมา หรืออย่างน้อยจิตก็ไม่ได้อยู่ที่งาน ทำให้งานที่กำลังทำนั้น แทนที่จะได้ผลดี ก็กลับกลายเป็นเสียไป