| |
บันทึกที่ ๑: วิธีคิดแบบแก้ปัญหา: วิธีคิดแบบอริยสัจ กับ วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์

พุทธธรรมได้แสดงโยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นวิธีการแห่งปัญญา ไว้หลายวิธี สำหรับใช้ในสถานการณ์ต่างกันบ้าง ใช้ประกอบกันในสถานการณ์อย่างเดียวบ้าง

น่าสังเกตว่า ในสมัยปัจจุบัน คำว่า วิธีการแห่งปัญญา บางทีใช้เรียก วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ ที่มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า วิธีคิดแบบแก้ปัญหา ซึ่งในที่นี้ ใช้เรียก วิธีคิดแบบอริยสัจ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเห็นควรยกวิธีคิด ๒ แบบนั้นมาเทียบเคียงกันดู

วิธีการแบบวิทยาศาสตร์ มี ๕ ขั้นตอน คือ

๑. การกำหนดปัญหาให้ถูกต้อง (Location of Problems)

๒. การตั้งสมมติฐาน (Setting up of Hypothesis)

๓. การทดลองและเก็บข้อมูล (Experimentation and Gathering of Data)

๔. การวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis of Data)

๕. การสรุปผล (Conclusion)

พึงสังเกตว่า ในวิธีคิดแบบนี้ ก็มีการสืบสาวหาสาเหตุเป็นส่วนสำคัญด้วย แต่เอาแฝงไว้ในขั้นที่ ๒. เพราะบางครั้งสาเหตุที่คาดนั่นเอง เป็นตัวสมมติฐาน บางครั้งสาเหตุบ่งถึงสมมติฐานไปด้วยในตัว แต่ก็มีข้อแย้งว่า ในหลายกรณี สาเหตุไม่บ่งชัดถึงสมมติฐาน และต้องตั้งสมมติฐานเผื่อไว้หลาย

ส่วนใน วิธีคิดแบบ(แสวง)อริยสัจ แยกการสืบสาเหตุเป็นขั้นหนึ่ง และจัดขั้นทั้งหมดเป็น ๒ ระดับ เทียบพอเห็นเค้า:

ก. กระบวนธรรม (ตามสภาวะ) เป็นขั้นของการที่จะเข้าถึงด้วยความรู้ คือคิดและรู้ให้ตรงความจริง ที่เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว

๑. ขั้นกำหนดทุกข์ ให้รู้ว่าทุกข์ หรือปัญหา คืออะไร อยู่ที่ไหน มีขอบเขตแค่ใด = ขั้นกำหนดปัญหา

๒. ขั้นสืบสาวสมุทัย หยั่งสาเหตุของทุกข์ หรือปัญหานั้น = (ไม่แยกต่างหาก)

๓. ขั้นเก็งนิโรธ ให้เห็นกระบวนการที่แสดงว่าการดับทุกข์แก้ปัญหาเป็นไปได้ และอย่างไร = ขั้นตั้งสมมติฐาน

ข. กระบวนวิธี (ของมนุษย์) เป็นขั้นที่จะต้องลงมือปฏิบัติ

๔. ขั้นเฟ้นหามรรค แยกย่อยออกได้ ๓ ขั้น

- มรรค ๑: เอสนา (หรือ คเวสนา, รวมทั้งวีมังสนา) แสวงหาข้อพิสูจน์/ทดลอง = ขั้นทดลองและเก็บข้อมูล

- มรรค ๒: วิมังสา (หรือประวิจาร) ตรวจสอบ ร่อน เลือกเก็บข้อที่ถูกต้องใช้ได้จริง = ขั้นวิเคราะห์ข้อมูล

- มรรค ๓: อนุโพธ กันข้อที่ผิดออก จับหรือเฟ้นได้มรรคแท้ ซึ่งนำไปสู่ผล คือแก้ปัญหาได้ = ขั้นสรุปผล

ขั้นตอนเหล่านี้ พึงเห็นการแสวงสัจธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นตัวอย่าง ดังนี้

๑. ขั้นกำหนดทุกข์ ความทุกข์ความเดือดร้อน ปัญหาต่างๆ ของมนุษย์ มีมากมายหลากหลาย ทั้งทางกาย ทางใจ ทั้งภายใน และภายนอก แต่เมื่อว่าโดยพื้นฐาน ก็คือ ภาวะบีบคั้นกายใจ ภาวะที่ขัด แย้ง ฝืน ไม่เป็นไปตามความอยากความยึดถือของมนุษย์

ปัญหา หรือความทุกข์ของมนุษย์ อาจมีรูปลักษณะต่างๆ นานา แปลกกันไปตามถิ่นตามกาล ซึ่งจะต้องใช้วิธีแก้ไขให้ตรงกับรูปลักษณะ และเฉพาะกาลเทศะนั้นๆ แต่ความทุกข์พื้นฐานนี้ เป็นปัญหาที่เนื่องอยู่กับชีวิต อยู่ที่ธรรมชาติของมนุษย์เอง เป็นทุกข์ หรือปัญหาของตัวคนแท้ๆ ไม่ว่าคนนั้นจะอยู่กลางธรรมชาติ หรือไปร่วมเป็นสังคม ทุกข์หรือปัญหาอย่างนี้ก็ติดตัวไปแสดงและก่อผลกับคนเสมอไป ไม่ว่ามนุษย์จะแก้ไขปัญหาดับทุกข์ที่เนื่องด้วยกาลเทศะอย่างไรหรือไม่ การแก้ไขทุกข์ขั้นพื้นฐานนี้ ก็เป็นกิจที่ต้องกระทำยืนพื้นตลอดเวลาเสมอไป และความทุกข์พื้นฐานที่ได้รับการแก้ไขหรือไม่นี้ จะมีผลต่อการมี และต่อการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ทุกอย่าง ทุกระดับด้วย ประโยชน์ที่จำเป็น ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สุด และสูงที่สุดของชีวิต จึงอยู่ที่การแก้ไขความทุกข์พื้นฐานแห่งชีวิตนี้ได้ ส่วนทุกข์หรือปัญหาอื่นๆ ก็ต้องแก้ไขกันอีกขั้นหนึ่ง คู่เคียงกันไป ตามคราว ตามกรณี


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |