| |
จ. จำแนกโดยเงื่อนไข  |   |  

การจำแนกแบบนี้ คือ มองหรือแสดงความจริงโดยพิจารณาเงื่อนไขประกอบด้วย ข้อนี้เป็นวิภัชชวาทแบบที่พบบ่อยมากอย่างหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าถูกถามว่า บุคคลนี้ควรคบหรือไม่ ถิ่นสถานนี้ควรเข้าเกี่ยวข้องหรือไม่ ถ้าพระภิกษุเป็นผู้ตอบ ก็อาจกล่าวตามแนวบาลีว่า ถ้าคบหรือเข้าเกี่ยวข้องแล้ว อกุศลธรรมเจริญ กุศลธรรมเสื่อม ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าเกี่ยวข้อง แต่ถ้าคบหรือเข้าเกี่ยวข้องแล้ว อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญ ควรคบ ควรเกี่ยวข้อง1379

ตัวอย่างอื่นๆ ในแนวนี้ เช่น ถ้าถามว่า ภิกษุควรถือธุดงค์หรือไม่ ท่านที่รู้หลักดี ก็จะตอบว่า ภิกษุใดถือธุดงค์แล้ว กรรมฐานดีขึ้น ภิกษุนั้นควรถือ ภิกษุใดถือแล้ว กรรมฐานเสื่อม ภิกษุนั้นไม่ควรถือ ภิกษุใดจะถือธุดงค์ก็ตาม ไม่ถือก็ตาม กรรมฐานก็เจริญทั้งนั้น ไม่เสื่อม ภิกษุนั้น เมื่อจะอนุเคราะห์ชนรุ่นหลัง ควรถือ ส่วนภิกษุใดจะถือธุดงค์ก็ตาม ไม่ถือก็ตาม กรรมฐานย่อมไม่เจริญ ภิกษุนั้นก็ควรถือ เพื่อเป็นพื้นอุปนิสัยไว้1380

ถ้ามีผู้กล่าวว่า พระพุทธเจ้าเป็นอุจเฉทวาทหรือไม่ ถ้าตอบตามพระองค์ ก็ว่า ถ้าใช้คำนั้นในความหมายอย่างนี้ๆ ก็ใช่ ถ้าใช้ในความหมายว่าอย่างนั้นๆ ก็ไม่ใช่1381 หรือถ้าถามว่า ภิกษุที่ชอบอยู่ผู้เดียว จาริกไปรูปเดียว ชื่อว่าปฏิบัติถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ใช่หรือไม่ ก็ต้องตอบอย่างมีเงื่อนไขเช่นเดียวกัน1382

ตัวอย่างทางวิชาการสมัยใหม่ เช่น พิจารณาปัญหาทางการศึกษาว่า ควรปล่อยให้เด็กพบเห็นสิ่งต่างๆ ในสังคม เช่น เรื่องราวและการแสดงต่างๆ ทางสื่อมวลชน เป็นต้น อย่างอิสระเสรีหรือไม่ หรือแค่ไหนเพียงไร ถ้าตอบตามแนววิภัชชวาท ก็จะไม่พูดโพล่งหรือพรวดลงไปอย่างเดียว แต่จะวินิจฉัยโดยพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ คือ

๑) ความโน้มเอียง ความพร้อม นิสัย ความเคยชินต่างๆ ซึ่งเด็กได้สั่งสมไว้โดยการอบรมเลี้ยงดู และอิทธิพลทางวัฒนธรรม เป็นต้น เท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น (พูดภาษาทางธรรมว่า สังขารที่เป็นกุศลและอกุศล คือแนวคิดปรุงแต่งที่ได้สั่งสมเสพคุ้นเอาไว้) อาจเรียกง่ายๆ ว่า พื้นของเด็กที่จะแล่นไป


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |