| |
๑) สุขทุกข์ ใครทำให้?

ตามหลักพุทธพจน์ว่า “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย บุคคลจึงปรุงแต่งกายสังขาร491 ...วจีสังขาร492 ...มโนสังขาร493 ขึ้นเองบ้าง...เนื่องจากตัวการอื่นบ้าง...โดยรู้ตัวบ้าง...ไม่รู้ตัวบ้าง ”494และพุทธพจน์ซึ่งปฏิเสธทฤษฎีที่ว่า สุขทุกข์ตนทำเองของพวกอัตตการวาทและทฤษฎีว่าสุขทุกข์ตัวการอื่นทำของพวกปรการวาท495 เป็นการย้ำให้มองเห็นกรรมในฐานะกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ตนเองก็ดี ผู้อื่นก็ดี จะมีส่วนเกี่ยวข้องแค่ไหนเพียงใด ย่อมต้องพิจารณาให้ถูกต้องตามกระบวนการ มิใช่ตัดสินขาดลงไปโดยมองเอาคิดเอาง่ายๆ

ที่กล่าวมานี้ เป็นการป้องกันความเข้าใจผิดสุดโต่งที่มักเกิดขึ้นในเรื่องกรรมว่า อะไรๆ เป็นเพราะตนเองทำทั้งสิ้น ทำให้ไม่คำนึงถึงตัวการและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ดี ต้องแยกความเข้าใจอีกชั้นหนึ่งระหว่างหลักกรรมในแง่ตัวกฎหรือสภาวะ กับในแง่ของจริยธรรม ที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นการแสดงในแง่ตัวกฎหรือตัวสภาวะ ซึ่งเป็นเรื่องของกระบวนการตามธรรมชาติที่ครอบคลุมเหตุปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งหมด

แต่ในแง่ของจริยธรรม อันเป็นคำสอนให้ปฏิบัติ ผู้ที่ถูกต้องการให้ปฏิบัติ ก็คือผู้ที่ถูกสอน ในกรณีนี้ คำสอนจึงมุ่งไปที่ตัวผู้รับคำสอน เมื่อพูดในแง่นี้ คือเจาะจงเอาเฉพาะตัวบุคคลนั้นเองเป็นหลัก ย่อมกล่าวได้ทีเดียวว่า เขาต้องเป็นผู้รับผิดชอบอย่างเต็มที่ ในการกระทำต่างๆ ที่เขาคิดหมายกระทำลงไป และที่จะให้ผลเกิดขึ้นตามที่มุ่งหมาย เช่น พุทธพจน์ว่า “ตนเป็นที่พึ่งของตน”เป็นการเพ่งความรับผิดชอบของบุคคลโดยมองจากตัวเองออกไป

ในกรณีนี้ นอกจากจะมีความหมายว่าต้องช่วยเหลือตัวเอง ลงมือทำเองแล้ว ในแง่ที่สัมพันธ์กับการกระทำของผู้อื่น ยังหมายกว้างไปถึงการที่ความช่วยเหลือจากผู้อื่นจะเกิดขึ้น จะคงมีอยู่ และจะสำเร็จผล ต้องอาศัยการพึ่งตนของบุคคลนั้นเอง ในการที่จะชักจูงเร้าให้เกิดกระทำจากผู้อื่น ในการที่จะรักษาการกระทำของผู้อื่นนั้นให้คงอยู่ต่อไป และในการที่จะยอมรับหรือสนองต่อการกระทำของผู้อื่นนั้นหรือไม่เพียงใดด้วย ดังนี้เป็นต้น

โดยเหตุนี้ หลักกรรมในแง่ตัวสภาวะก็ดี ในแง่ของจริยธรรมก็ดี จึงไม่ขัดแย้งกัน แต่สนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องทำความเข้าใจให้ถูก


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |  
หนังสือที่เกี่ยวข้อง