| |
ช. ความมุ่งหมายและประโยชน์ของสมาธิ: ในแง่ช่วยป้องกันความไขว้เขว  |   |  

ความเข้าใจในเรื่องประโยชน์ หรือความมุ่งหมายในการเจริญสมาธินี้ จะช่วยป้องกัน และกำจัดความเข้าใจผิดพลาดเกี่ยวกับเรื่องสมาธิ และชีวิตของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาได้เป็นอันมาก เช่น ความเข้าใจผิดว่าการบำเพ็ญสมาธิเป็นเรื่องของการถอนตัว ไม่เอาใจใส่ในกิจการของสังคม หรือว่า ชีวิตพระสงฆ์ เป็นชีวิตที่ปลีกตัวโดยสิ้นเชิง ไม่รับผิดชอบต่อสังคม เป็นต้น

ข้อพิจารณาต่อไปนี้ อาจเป็นประโยชน์ ในการป้องกัน และกำจัดความเข้าใจผิดที่กล่าวแล้วนั้น

• สมาธิเป็นเพียงวิธีการเพื่อเข้าถึงจุดหมาย ไม่ใช่ตัวจุดหมาย ผู้เริ่มปฏิบัติอาจต้องปลีกตัวออกไป มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตในสังคมน้อยเป็นพิเศษ เพื่อการปฏิบัติฝึกอบรมช่วงพิเศษระยะเวลาหนึ่ง แล้วจึงออกมามีบทบาทในทางสังคมตามความเหมาะสมของตนต่อไป อีกประการหนึ่ง การเจริญสมาธิโดยทั่วไป ก็มิใช่จะต้องมานั่งเจริญอยู่ทั้งวันทั้งคืน และวิธีปฏิบัติก็มีมากมาย เลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมกับจริยา เป็นต้น

• จะเห็นได้จากหลักฐาน เช่นที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในหลักสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น ว่า บุคคลบางคน อาจใช้เวลาปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน ๔ นั้น อย่างจริงจังต่อเนื่องกัน เป็นเวลาเพียง ๗ วัน เท่านั้น ก็บรรลุอรหัตตผลได้ สำหรับท่านที่สำเร็จผลเช่นนี้แล้ว การใช้สมาธิต่อจากนั้นไป ตามปกติก็คือ เพื่อประโยชน์ในข้อทิฏฐธรรมสุขวิหาร ส่วนเวลาที่เหลืออยู่มากมายในชีวิต ก็สามารถใช้ให้เป็นไปตามพุทธพจน์ที่มีเป็นหลักมาแต่ดั้งเดิม คือ “จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย – ภิกษุทั้งหลาย จงจาริกไปเพื่อประโยชน์สุขของพหูชน เพื่อเกื้อการุณย์แก่ชาวโลก”

• การดำเนินปฏิปทาของพระสงฆ์ ขึ้นต่อความถนัด ความเหมาะสม ของลักษณะนิสัย และความพอใจส่วนตนด้วย บางรูปอาจพอใจและเหมาะสมที่จะอยู่ป่า บางรูปถึงอยากไปอยู่ป่า ก็หาสมควรไม่ มีตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุบางรูปไปปฏิบัติธรรมในป่า1605 และแม้ภิกษุที่อยู่ป่า ในทางพระวินัยของสงฆ์ ก็หาได้อนุญาตให้ตัดขาดจากความรับผิดชอบทางสังคมโดยสิ้นเชิง อย่างฤาษีชีไพรไม่ 1606

• ประโยชน์ของสมาธิและฌานที่ต้องการในพุทธธรรม ก็คือ ภาวะจิตที่เรียกว่า “นุ่มนวล ควรแก่งาน” ซึ่งจะนำมาใช้เป็นที่ปฏิบัติการของปัญญาต่อไปดังกล่าวแล้ว ส่วนการใช้สมาธิและฌานเพื่อประโยชน์อื่นจากนี้ ถือเป็นผลได้พิเศษ และบางกรณีกลายเป็นเรื่องไม่พึงประสงค์ ซึ่งพระพุทธเจ้าไม่ทรงสนับสนุน ตัวอย่างเช่น

ผู้ใดบำเพ็ญสมาธิเพื่อต้องการอิทธิปาฏิหาริย์ ผู้นั้นชื่อว่าตั้งความดำริผิด อิทธิปาฏิหาริย์นั้น อาจก่อให้เกิดผลร้ายได้มากมาย เสื่อมได้ และไม่ทำให้บรรลุจุดหมายของพุทธธรรมได้เลย 1607


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |