| |
ฉันทะอยากชั่ว ตัณหาอยากดี มีหรือไม่?  |   |  

อาจมีผู้สงสัยว่า ในเมื่อฉันทะอยากทำดี หรืออยากให้มีภาวะที่ดีแล้ว ฉันทะจะอยากทำชั่ว หรืออยากให้มีภาวะที่ชั่วบ้างไม่ได้หรือ พึงพิจารณาว่า เหตุที่คนทำชั่ว ก็เพราะเห็นแก่การจะได้เสพเวทนาอันอร่อย หรือไม่ก็ต้องการจะเสริมหนุนความมั่นคงถาวรยิ่งใหญ่ของตัวตนที่ยึดถือไว้ หรือไม่ก็เพราะต้องการให้ตัวตนพรากพ้นไปจากสิ่งหรือภาวะที่ไม่ปรารถนา หรือเพราะมีลักษณะการดำเนินชีวิตโดยทั่วไป อย่างที่เรียกว่า เป็นอยู่แค่ปลายเส้นประสาท กล่าวคือ ได้รับรู้อารมณ์ที่ถูกใจ ก็ชอบใจ อยากได้ จะเอา ได้รับรู้อารมณ์ไม่ถูกใจ ก็ขัดใจ ชัง อยากทำลาย ประพฤติตัวและกระทำการต่างๆ ไปตามอำนาจของความชอบใจ ขัดใจ หรือความชอบความชังเท่านั้น

รวมความก็คือ ที่ทำชั่ว ก็เพราะเป็นไปตามกระบวนธรรมของอวิชชา-ตัณหา หรือเรียกให้เต็มว่า อวิชชา-ตัณหา-อุปาทาน

เป็นอันว่า อวิชชา-ตัณหานั่นเอง เป็นเหตุของการทำความชั่ว ความอยากทำชั่วจึงต้องมาจากอวิชชา-ตัณหา (ตามหลักความเป็นเงื่อนไขที่กล่าวแล้ว) ส่วนฉันทะเกิดสืบเนื่องจากความรู้ความเข้าใจ ความชื่นชมความดีงามสมบูรณ์ตามสภาวะ หรือความสำนึกในเหตุผลที่ได้พิจารณาแล้วโดยอิสระจากความรู้สึกชอบใจไม่ชอบใจ จนรู้เห็นว่า อะไรเป็นสิ่งมีคุณค่า เป็นคุณประโยชน์แท้จริง จึงโน้มน้อมใจไปหาสิ่งนั้น


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |