ไปยังหน้า : |
ศีล ตามความหมายกว้างๆ อย่างที่ใช้เป็นคำไทยนั้น กล่าวได้คร่าวๆ ว่า มี ๒ ระดับ
หนึ่ง ระดับทั่วไป ได้แก่ ระดับธรรม หรือระดับที่ยังเป็นธรรม คือ เป็นข้อแนะนำสั่งสอน หรือหลักความประพฤติที่แสดง (เทสิตะ)1872 ให้รู้เข้าใจ ผู้ที่ทำดีทำชั่ว มีความประพฤติดีประพฤติชั่ว หรือรักษาศีล ละเมิดศีล ย่อมได้รับผลดีผลชั่วเองตามเหตุปัจจัย ตามกฎธรรมดาแห่งความดีความชั่ว ที่เรียกว่ากฎแห่งกรรม หรือตามกฎแห่งกรรมนั้น
สอง ระดับเฉพาะ ได้แก่ ระดับวินัย หรือระดับที่เป็นวินัย คือ เป็นแบบแผนข้อบังคับที่บัญญัติ คือวางหรือกำหนดขึ้น (ปัญญัตตะ) 1873 ไว้ เป็นทำนองประมวลกฎหมาย สำหรับกำกับความประพฤติของสมาชิกในหมู่ชนหรือชุมชนหนึ่ง โดยสอดคล้องกับความมุ่งหมายของหมู่คณะ หรือชุมชนนั้นโดยเฉพาะ ผู้ละเมิดบทบัญญัติแห่งศีลประเภทวินัยนี้ มีความผิดตามอาณาของหมู่ ซ้อนเข้ามาอีกชั้นหนึ่ง เพิ่มจากอกุศลเจตนาที่จะได้รับผลตามกฎแห่งกรรมของธรรมชาติ
เมื่อพิจารณาตามหลักนี้ จะเห็นได้ว่า สังคมวงกว้าง คือหมู่มนุษย์ทั้งหมด มีสภาพต่างกันไป ทั้งโดยกาละ และเทศะ ตกอยู่ใต้อิทธิพลของภาวะเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เป็นต้น ซึ่งแปลกกันไปตามถิ่น ตามยุคสมัย การที่จะวางบทบัญญัติเกี่ยวกับศีลในส่วนรายละเอียดลงไว้เป็นแบบแผนอย่างเดียวกันตายตัวโดยอาณา อย่างที่เรียกว่าวินัยนั้น มิใช่ฐานะที่จะพึงกระทำ เพราะไม่อาจให้สังคมทุกยุคทุกสมัยทุกสภาพแวดล้อม ดำรงอยู่ด้วยดี และมีสภาพเกื้อกูล ด้วยประมวลบทบัญญัติที่มีข้อปลีกย่อยอย่างหนึ่งอย่างเดียวกันทั้งหมด
ดังนั้น สำหรับสังคมมนุษย์ทั่วไป พระพุทธศาสนาจึงแนะนำสั่งสอน หรือเสนอหลักธรรมหมวดที่นิยมเรียกกันว่า ศีล ๕ ไว้เป็นข้อกำหนดอย่างต่ำ หรือหลักความประพฤติอย่างน้อยที่สุดในระดับศีล 1874 เลยจากนั้นขึ้นไป ก็มี ศีลในกรรมบถ คือกุศลกรรมบถ ๗ ข้อต้น หรือศีลที่เป็นองค์แห่งมรรค ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ 1875 ซึ่งเป็นหลักของศีลอย่างกว้างๆ