| |
๒. ทุกขตา  |   |  

ในหลักทุกขตา มีเกณฑ์สำคัญสำหรับกำหนดคุณค่าทางจริยธรรมอยู่ ๒ อย่าง คือ

ก. ในเมื่อสิ่งทั้งหลายเกิดจากการประชุมกันเข้าขององค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นส่วนย่อยๆ ลงไป และองค์ประกอบเหล่านั้น แต่ละอย่างล้วนไม่เที่ยง กำลังตกอยู่ในอาการเกิดขึ้น แปรไป และสลายตัวตามหลักอนิจจตา อยู่ด้วยกันทั้งสิ้น สิ่งที่เป็นหน่วยรวมนั้น จึงเท่ากับเป็นที่รวมของความปรวนแปร และความขัดแย้งต่างๆ และแฝงเอาภาวะที่พร้อมจะแตกแยกและเสื่อมสลายเข้าไว้ในตัวด้วยอย่างเต็มที่

เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่จะควบคุมองค์ประกอบต่างๆ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่นั้นให้คุมรูปเป็นหน่วยรวมตามรูปแบบที่ประสงค์ก็ดี การที่จะควบคุมการเปลี่ยนแปลงนั้นให้ดำเนินไปในทิศทางที่ต้องการก็ดี จะต้องใช้พลังงานและวิธีการจัดระเบียบเข้ามาร่วมเป็นองค์ประกอบช่วยเป็นเหตุปัจจัยเพิ่มขึ้นอีกด้วย ยิ่งองค์ประกอบส่วนย่อยๆ ต่างๆ นั้น มีมากและสลับซับซ้อนยิ่งขึ้นเท่าใด ก็ต้องใช้พลังงานมากขึ้น และมีการจัดระเบียบที่ละเอียดรัดกุมยิ่งขึ้นเท่านั้น การปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย เพื่อให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จะต้องทำที่ตัวเหตุปัจจัยของมัน และรู้ชัดถึงความสำเร็จผล หรือความผิดพลาด พร้อมทั้งทางแก้ไขต่อไป ตามความพร้อมของเหตุปัจจัยเหล่านั้น นี้คือวิธีปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างอิสระ ไม่ผูกมัดตัว และไม่เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์

ส่วนวิธีที่ตรงข้ามจากนี้ ก็คือการกระทำตามความยึดอยากด้วยตัณหาอุปาทาน โดยเอาตัวเข้าไปผูกมัดให้สิ่งเหล่านั้นบีบคั้น ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความทุกข์แก่ตนเองแล้ว ก็ไม่ช่วยให้เกิดผลดีอย่างใดๆ ขึ้นมา

ข. ตามหลักกิจในอริยสัจ หน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อทุกข์ ได้แก่ “ปริญญา” คือการกำหนดรู้ หรือทำความเข้าใจ หมายความว่า เรื่องทุกข์นี้ บุคคลมีหน้าที่เกี่ยวข้องเพียงแค่กำหนดรู้ หรือทำความเข้าใจเท่านั้น

การปฏิบัติต่อทุกข์โดยถูกต้องตามหลักกิจในอริยสัจนี้ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง แต่เป็นเรื่องที่มักถูกมองข้ามไป พุทธธรรมสอนให้ปฏิบัติต่อทุกข์ด้วยการศึกษาให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ให้รู้จักทุกข์ คือให้รู้จักปัญหาของตนเอง มิใช่เพื่อเป็นทุกข์ แต่เพื่อปฏิบัติต่อมันได้ถูกต้อง แล้วจะได้ไม่มีทุกข์ หรือพูดอย่างง่ายๆ ว่า เพื่อจะได้มีความสุขที่แท้จริงนั่นเอง

พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ หลักกิจในอริยสัจสอนว่า สิ่งใดก็ตามที่เป็นปัญหาแก่ตน มนุษย์จะต้องศึกษาสิ่งนั้นให้รู้ให้เข้าใจอย่างชัดเจนที่สุด ก่อนที่จะลงมือจัดการแก้ไขปัญหานั้น การศึกษาปัญหา มิได้หมายความว่าเป็นการสร้างปัญหาหรือหาปัญหามาใส่ตน แต่เป็นวิธีการที่จะทำให้ปัญหาหมดไปต่างหาก

ผู้ที่ไม่ทราบหลักกิจในอริยสัจ อาจปฏิบัติต่อทุกข์อย่างผิดพลาด ไร้จุดหมาย เขวออกนอกทาง และอาจกลายเป็นการเพิ่มทุกข์แก่ตนด้วยการมองโลกในแง่ร้ายไปก็ได้

เมื่อทราบหลักเกณฑ์ใหญ่ๆ ๒ ข้อนี้แล้ว จึงควรกำหนดคุณค่าต่างๆ ในทางจริยธรรมของหลักทุกขตาดังต่อไปนี้

๑) การที่สิ่งทั้งหลายถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้น การเจริญ และการสลายตัว ทำให้เกิดความกดดัน ขัดแย้ง และการที่จะทนอยู่ในสภาพเดิมตลอดไปไม่ได้ ภาวะเช่นนี้แสดงว่า สิ่งทั้งหลายมีความบกพร่อง มีความไม่สมบูรณ์อยู่ในตัว ความบกพร่องหรือความไม่สมบูรณ์นี้ ยิ่งมีมากขึ้นโดยสัมพันธ์กับกาลเวลาที่ผ่านไป และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอก เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งทั้งหลายที่จะรักษาสภาพของตนไว้ หรือขยายตัวเข้าสู่ความสมบูรณ์ จึงต้องต่อสู้ดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา การดำรงสภาพชีวิตที่ดีไว้ การนำชีวิตเข้าสู่ความเจริญ และความสมบูรณ์ จึงต้องมีการแก้ไขปรับปรุงตัวอยู่ตลอดเวลา


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |  
หนังสือที่เกี่ยวข้อง