| |
ตัณหาให้ละแน่ แต่ฉันทะก็ละอีกแบบหนึ่ง  |   |  

ในทางปฏิบัติ มีข้อสรุปที่พึงยอมรับกันไว้ก่อนว่า

ประการที่หนึ่ง เป็นธรรมดาของปุถุชนที่ย่อมมีตัณหาครองใจเป็นพื้นอยู่ และตัณหานั้นจะเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าในขั้นตอนหรือเวลาใด ที่เผลอปล่อยโอกาสแก่มัน

ประการที่สอง ตัณหาเกิดขึ้นมาเมื่อใด ก็จะชักนำเอาปัญหาหรือความทุกข์เข้ามาให้ด้วย จึงควรละหรือกำจัดเสีย

ประการที่สาม ในเมื่อตัณหาที่เป็นตัวก่อโทษนั้น พร้อมที่จะเกิดอยู่เสมอ การที่ปุถุชนจะหลีกเลี่ยงมันโดยสิ้นเชิง ย่อมจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ในกรณีที่สมควรหรือจำเป็น น่าจะมีวิธีปฏิบัติในทางที่จะทำให้ตัณหาก่อประโยชน์ หรือเอาตัณหาไปใช้ประโยชน์ได้ นี้เป็นฝ่ายอกุศล

ส่วนในฝ่ายกุศลหรือฝ่ายดี ก็เป็นอันยอมรับในทางตรงข้ามว่า ฉันทะเป็นประโยชน์เกื้อกูล ช่วยให้ชีวิตเข้าถึงภาวะดีงามทุกอย่างที่มีคุณค่าแท้จริง จึงควรใช้และปลูกฝังให้เกิดมีมากขึ้นโดยลำดับ เมื่อฉันทะเกิดขึ้น ก็ย่อมเป็นการปิดกั้นหรือป้องกันและกำจัดตัณหาไปด้วยในตัว

ท่านแสดงหลักการทั่วไปไว้ว่า ตัณหาเป็นสิ่งที่พึงละ2065 ส่วนฉันทะเป็นกรณียะ คือสิ่งที่พึงกระทำ2066

อย่างไรก็ตาม อาจจะพูดอีกแนวหนึ่งก็ได้ว่า ทั้งตัณหาและฉันทะ เป็นสิ่งที่พึงละเสียทั้งสองอย่าง แต่การละนั้นต่างกัน ดังที่ท่านขยายความไว้จับสาระได้ว่า ตัณหาเกิดที่ไหน ควรละเสียที่นั่น 2067 คือละหรือกำจัดเสีย ณ จุดที่มันเกิดขึ้น ส่วนฉันทะ ท่านให้ละด้วยการทำให้สำเร็จตามฉันทะนั้น คือ ละด้วยการทำตามฉันทะนั้นจนสำเร็จผล ทำให้ฉันทะนั้นหมดไปเอง หรือไม่ต้องมีฉันทะนั้นอีกต่อไป

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ตัณหา เป็นความต้องการชนิดที่ควรดับหรือละทิ้งไปเสียโดยทันทีและถ่ายเดียว ไม่ต้องเก็บเอาไว้ใช้อะไรต่อไป ส่วนฉันทะ เป็นความต้องการชนิดที่ควรทำตามจนสำเร็จหมดความต้องการนั้นไปเอง พูดสั้นๆ ว่า ตัณหาละด้วยการสลัดทิ้ง ฉันทะละด้วยการทำให้สำเร็จ

การละฉันทะด้วยการทำให้สำเร็จ ซึ่งจะเรียกว่า การละฉันทะด้วยฉันทะ คือเอาฉันทะละฉันทะ หรือทำให้ฉันทะละตัวมันเองนี้ มีเรื่องมาในบาลี ขอนำมาลงไว้เพื่อให้พิจารณาเห็นชัดเจนด้วยตนเอง เรื่องนี้เป็นคำสนทนาถามตอบปัญหา ระหว่างพราหมณ์คนหนึ่งกับพระอานนท์

พราหมณ์: ท่านพระอานนท์ผู้เจริญ บุคคลอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดม เพื่อประโยชน์อะไร?

พระอานนท์: เพื่อละฉันทะ2068


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |