ไปยังหน้า : |
ที่ว่ามานั้นพูดในแง่คฤหัสถ์ ทีนี้มาดูในแง่ของพระภิกษุ ในสังฆะหรือในสังคมของพระนี้ อย่านึกว่าชีวิตของพระจะอยู่แต่กับเรื่องที่เรียกกันว่าการปฏิบัติธรรม หรือแม้แต่สมถะวิปัสสนา
มีข้อสังเกตแทรกเข้ามาว่า คำว่า “ปฏิบัติธรรม” นี้คนไทยใช้กันไปใช้กันมา เวลานี้เหลือความหมายทั้งแคบทั้งคลุมเครือ จนบางทีต้องเลี่ยง ไม่ใช้เสียเลย หรือต้องใช้อย่างระมัดระวัง ที่จริง การปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าใช้ในความหมายที่ถูกต้อง ก็พูดได้ว่าเรื่องของพระก็คือการปฏิบัติธรรม และไม่ว่าใคร ถ้าจะเป็นคนให้ถูกต้อง ก็ต้องปฏิบัติธรรมในความหมายนี้ทั้งนั้น
ชีวิตของพระนั้น จะให้ดี ก็ดูที่วินัยก่อน จึงจะเห็นชัดว่า ชีวิตของพระนั้นเป็นชีวิตในสังฆะ แล้วจะต่างกับชาวบ้านอย่างไร ก็ดูที่นี่
ทีนี้ ชีวิตพระที่อยู่ร่วมในสังฆะนั้น เมื่อปฏิบัติตามพระวินัย ก็มีสาระโยงไปรับกันกับหลักธรรม เพราะที่แท้แล้ว แก่นสารของวินัยก็อยู่ที่ธรรมนั่นเอง แต่ต้องจับให้ถูกที่
ไม่ต้องพูดยืดยาว ชีวิตพระอยู่ในสังฆะ ที่อยู่ได้ด้วยสามัคคี โดยมีวินัยเป็นเครื่องสร้างและดำรงสามัคคีนั้น พอถึงสามัคคี นี่ก็คือมาถึงธรรมทันที แล้วตรงนี้ เรามาดูหลักธรรมที่เป็นฐานของสามัคคีนั้นให้ชัดให้ดี
ตรงนี้แหละ ก็มีหลักธรรมที่เน้นไว้ในพระสุตตันตปิฎก และพระวินัยปิฎกก็ย้ำไว้อีก ได้แก่หลักธรรมชุดที่เรียกว่า สาราณียธรรม ๖ ประการ เป็นหลักธรรมทางสังคม สำหรับดำรงสังฆะโดยตรง