| |
จ) ทางของอารยชนกว้างและสว่าง ทั้งพึ่งตนได้ และคนทั้งหลายก็ช่วยหนุนกัน  |   |  

บุคคลที่มีศรัทธาแน่วแน่ มั่นใจในพระรัตนตรัยโดยสมบูรณ์ เสียงชักจูงภายนอก หรือแม้แต่ความผันผวนปรวนแปรในชีวิต ที่เรียกว่าโลกธรรม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าโชคเคราะห์ทั้งหลาย ไม่อาจทำให้หวั่นไหวคลอนแคลนได้

จิตใจของเขาเป็นเหมือนคนมีสุขภาพดี แข็งแรง ช่วยตัวเองได้ตลอดเวลา 1771 ไม่ต้องหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลจากภายนอก เขาหวังผลจากกรรม คือการกระทำด้วยความเพียรพยายามตามเหตุปัจจัย ทั้งมีปัญญาเจริญถึงขั้นรู้เข้าใจหลักการแก้ไขปัญหาดับทุกข์ตามแนวทางแห่งสัจธรรมที่เรียกว่า อริยสัจ ๔ ประการอย่างชัดเจน และดำเนินวิธีแก้ไขปัญหาดับทุกข์นั้น ตามมรรคาที่เรียกว่า อารยอัษฎางคิกมรรค เดินหน้าแน่วไป

บุคคลเช่นนี้ ท่านเรียกว่า เป็นผู้เข้าสู่กระแสแห่งทางดับทุกข์ ไปสู่ความเป็นอิสระเสรีที่แท้จริง เริ่มเข้าสังกัดในสังคมแห่งอารยชน เป็นคนมีการศึกษา เรียกว่า อริยบุคคลขั้นที่หนึ่ง มีชื่อเฉพาะว่า โสดาบัน

ส่วนคนทั้งหลายนอกจากนั้น ผู้ยังว่ายวน หมุนเวียนอยู่ใต้กระแสครอบงำของโลกธรรม หวั่นไหวไปตามโชคเคราะห์ มีศรัทธาที่ยังง่อนแง่น ไม่มั่นใจตนเองบนฐานแห่งคุณพระรัตนตรัย จิตใจเหมือนคนที่มักเจ็บไข้ออดแอด ช่วยตัวเองไม่ค่อยได้ ต้องคอยอาศัยผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา

คนเช่นนี้ อย่างเก่ง ยามดี ก็เข้มแข็ง แต่พอถูกมรสุมชีวิตอย่างแรง ก็ทรงตัวอยู่ไม่ไหว ต้องเลือกระหว่างการทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส หรือหันไปหากามสุขที่แรงขึ้น มีสิ่งมึนเมาเสพติด เป็นต้น หรือยอมพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขออำนาจดลบันดาลบ้าง หวังผลจากมงคลบ้าง จากโชคชะตาบ้าง พอกลบเกลื่อนชดเชยปลุกปลอบกันไป1742 ด้วยไม่รู้ทางออกที่ถูกต้อง ยังไม่มองดูรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันตามสภาวะและตามเหตุปัจจัย ทำใจให้ลอยพ้นกระแสโลกไม่ได้

ในการดำเนินชีวิต คนในระดับการพัฒนาขั้นนี้ ก็จะเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ถ้าไม่อยู่ข้างมัวเมากามสุข เห็นแก่จะเสพบำรุงบำเรอตน ก็เฉียดไปข้างเข้มงวดบีบรัดตนเองด้วยระบบหรือแบบแผนวิธีที่ถือมั่นเอาไว้โดยงมงาย ไม่ดำเนินตรงไปในมัชฌิมาปฏิปทา

คนเหล่านี้มีชื่อเรียกว่าเป็นปุถุชน ถ้าเป็นคนห่างไกลอารยธรรม มืดบอดเสียทีเดียว ไม่รู้จักดีชั่ว ดำเนินชีวิตโดยสักว่าตัณหาพาไป ไม่ใช้ความคิดไม่ใช้ปัญญา พร้อมที่จะเบียดเบียนไม่ว่าใครๆ เพื่อเห็นแก่ตน ก็เรียกว่า อันธพาลปุถุชน


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |