| |
ทั้งทุกข์และสุข ปฏิบัติให้ถูก มีแต่สุข ทุกข์ไม่มี  |   |  

เมื่อเริ่มออกเดินทาง จับเรื่องได้ จับจุดถูก ได้หลักใหญ่ ดังที่ว่าแล้ว ต่อจากนั้นไป ในระหว่างทาง หรือตลอดทาง ก็มีหลักย่อยในการปฏิบัติต่อความสุขและความทุกข์ไว้ช่วยอีก เป็นข้อสำคัญที่เป็นประโยชน์ในทางปฏิบัติโดยตรง และพระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้เองด้วยเช่นเดียวกัน นั่นคือ วิธีปฏิบัติต่อความสุข ซึ่งก็รวมวิธีปฏิบัติต่อความทุกข์ไว้ด้วยในตัว

วิธีปฏิบัติต่อความสุขนี้ ขอว่าไปตามพุทธพจน์ที่แสดงไว้ ในพระสูตรชื่อว่าเทวทหสูตร มี ๔ ข้อง่ายๆ คือ

๑. ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่เป็นทุกข์

๒. ไม่ละทิ้งสุขที่ชอบธรรม

๓. แม้ในสุขที่ชอบธรรมนั้น ก็ไม่หมกมุ่นสยบ

๔. เพียรทำเหตุแห่งทุกข์ให้หมดสิ้นไป

(โดยนัยว่า เพียรปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสุขที่สูงขึ้นไปจนสูงสุด)

ในข้อ ๑ ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่เป็นทุกข์ จะเห็นว่า คนเรานี้ชอบเอาทุกข์มาทับถมตน คือ ตัวเองอยู่ดีๆ ไม่ได้เป็นทุกข์อะไร แต่ชอบหาทุกข์มาใส่ตัว ตัวอย่างง่ายๆ ได้แก่ คนกินเหล้าเมายา เสพยาเสพติด ตัวเองก็อยู่สบายๆ กลับไปเอาสิ่งเหล่านั้นที่รู้กันอยู่ชัดๆ ว่ามีโทษมาก ตั้งแต่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ทั้งที่รู้อย่างนี้ ก็เอามาใส่ตัวเองให้เกิดทุกข์เกิดปัญหาขึ้นมา

ลึกเข้าไป ทางจิตใจ บางคนก็เที่ยวเก็บอารมณ์อะไรต่างๆ ที่กระทบกระทั่งนิดๆ หน่อยๆ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ได้เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ได้เห็นคนนั้นคนนี้ เขาทำอันนั้นอันนี้ ได้ยินเขาว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ก็รับเข้ามาเก็บเอาไว้ เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ผ่านไปแล้ว แต่พอมีเวลาไปนั่งเงียบๆ ก็ยกเอามาคิด เอามาปรุงแต่งในใจ ทำให้ใจเศร้าหมอง ขุ่นมัว ไม่สบายใจ ก็กลายเป็นทุกข์ อย่างนี้ก็เป็นการเอาทุกข์มาทับถมตนอย่างหนึ่ง

ทางพระก็สอนว่า ผู้ที่ยังอยู่กับชีวิตในระดับชาวบ้านนั้น ถ้าจะปรุงแต่งก็ไม่ว่า แต่ขอให้ปรุงแต่งในทางดี อย่าไปปรุงแต่งไม่ดี ถ้าปรุงแต่งไม่ดี ท่านเรียกว่าอปุญญาภิสังขาร ได้แก่ปรุงแต่งเรื่องร้ายๆ เรื่องบาปอกุศล เป็นเรื่องโลภะ โทสะ โมหะ ก็กลายเป็นปรุงแต่งทุกข์


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |