ไปยังหน้า : |
ผู้ปฏิบัติเพื่อเข้าถึงนิพพาน ที่ประสบผลสำเร็จบรรลุจุดหมายแล้วก็ดี ผู้ที่ดำเนินก้าวหน้ามาในทางที่ถูกจนถึงขั้นที่มองเห็นจุดหมายอยู่เบื้องหน้าแล้ว และจะต้องบรรลุถึงจุดหมายนั้นอย่างแน่นอนก็ดี ท่านจัดเข้าสังกัดในกลุ่มชนผู้เป็นสาวกที่แท้ของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่าสาวกสงฆ์ ดังข้อความในบทสวดสังฆคุณว่า “สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ” ดังนี้เป็นต้น
มีคำเฉพาะสำหรับเรียก เพื่อแสดงคุณสมบัติพิเศษของท่านผู้เป็นสาวกที่แท้เหล่านี้ อีกหลายคำ คำที่ใช้กันทั่วไปและรู้จักกันมากที่สุด คงจะได้แก่คำว่า “อริยบุคคล” หรือ “พระอริยะ” ซึ่งแปลว่า ผู้เจริญบ้าง ท่านผู้ประเสริฐบ้าง ท่านผู้ไกลจากข้าศึกคือกิเลสบ้าง ฯลฯ
ความจริง คำว่า อริยบุคคล เป็นคำที่นิยมใช้สำหรับพูดถึงอย่างกว้างๆ หรือคลุมๆ ไป ไม่ระบุตัว หาใช่เป็นคำเฉพาะมาแต่เดิมไม่774 คำเดิมที่ท่านใช้เป็นศัพท์เฉพาะ สำหรับแยกประเภทหรือแสดงระดับขั้นในบาลีได้แก่คำว่า “ทักขิไณย” หรือ ทักขิไณยบุคคล
อย่างไรก็ตาม คำว่า ทักขิไณยบุคคล ก็ดี อริยบุคคล ก็ดี ล้วนเป็นคำเลียนศัพท์ในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงเปลี่ยนแปร หรือปฏิวัติความหมายเสียใหม่ เช่นเดียวกับศัพท์อื่นๆ อีกเป็นอันมาก เช่น พรหม พราหมณ์ นหาตกะ เวทคู เป็นต้น
คำว่า “อริยะ” ตรงกับสันสกฤต ว่า “อารยะ” เป็นชื่อเรียกเผ่าชนที่อพยพเข้ามาทางตะวันตกเฉียงเหนือของชมพูทวีป คือประเทศอินเดีย เมื่อหลายพันปีมาแล้ว และรุกไล่ชนเจ้าถิ่นเดิมให้ถอยร่นลงไปทางใต้และป่าเขา พวกอริยะ หรืออารยะนี้ (เวลาเรียกเป็นเผ่าชน นิยมใช้ว่า พวกอริยกะ หรืออารยัน) ถือตัวว่าเป็นพวกเจริญ และเหยียดชนเจ้าถิ่นเดิมลงว่าเป็นพวกมิลักขะ หรือมเลจฉะ คือพวกคนเถื่อน คนดง คนดอย เป็นพวกทาส หรือทัสยุ
ต่อมา เมื่อพวกอริยะเข้าครอบครองถิ่นฐานมั่นคง และจัดหมู่ชนเข้าในระบบวรรณะลงตัว โดยให้พวกเจ้าถิ่นเดิมหรือพวกทาสเป็นวรรณะศูทรแล้ว คำว่าอริยะ หรืออารยะ หรืออารยัน ก็หมายถึงชน ๓ วรรณะต้น คือ กษัตริย์ พราหมณ์ และแพศย์ ส่วนพวกศูทรและคนทั้งหลายอื่น เป็นอนารยะทั้งหมด775 การถืออย่างนี้ เป็นเรื่องของชนชาติ เป็นไปตามกำเนิด จะเลือกหรือแก้ไขไม่ได้
เมื่อพระพุทธเจ้าออกประกาศพระศาสนา พระองค์ได้ทรงสอนใหม่ว่า ความเป็นอริยะ หรืออารยะ ไม่ได้อยู่ที่ชาติกำเนิด แต่อยู่ที่ธรรม ซึ่งประพฤติปฏิบัติและฝึกฝนอบรมให้มีขึ้นในจิตใจของบุคคล ใครจะเกิดมาเป็นชนชาติใด วรรณะไหนไม่สำคัญ ถ้าประพฤติอริยธรรมหรืออารยธรรม ก็เป็นอริยะคืออารยชนทั้งนั้น ใครไม่ประพฤติ ก็เป็นอนริยะ หรืออนารยชนทั้งสิ้น
สัจธรรมก็ไม่ต้องเป็นของที่พวกพราหมณ์ผูกขาดโดยจำกัดตามคำสอนในคัมภีร์พระเวท แต่เป็นความจริงที่เป็นกลาง มีอยู่โดยธรรมดาแห่งธรรมชาติ ผู้ใดรู้แจ้งเข้าใจสัจธรรมที่มีอยู่โดยธรรมดานี้ ผู้นั้นก็เป็นอริยะ หรืออารยะ โดยไม่จำเป็นต้องศึกษาพระเวทของพราหมณ์แต่ประการใด และเพราะการรู้สัจธรรมนี้ทำให้คนเป็นอริยะ สัจธรรมนั้นจึงเรียกว่า “อริยสัจ”776