ไปยังหน้า : |
กรรม ๑๒ หรือ กรรมสี่ ๓ หมวด ตามที่ท่านแสดงไว้ในอรรถกถาและฎีกาทั้งหลาย มีหัวข้อและความหมายโดยย่อดังนี้
หมวดที่ ๑ ว่าโดยปากกาล คือ จำแนกตามเวลาที่ให้ผล
๑. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในปัจจุบันคือภพนี้ ได้แก่ กรรมดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ที่กระทำในขณะแห่งชวนจิตดวงแรก ในบรรดาชวนจิตทั้ง ๗ แห่งชวนวิถีหนึ่งๆ พูดเป็นภาษาวิชาการว่า ได้แก่ชวนเจตนาที่หนึ่ง กรรมนี้ให้ผลเฉพาะในชาตินี้เท่านั้น ถ้าไม่มีโอกาสให้ผลในชาตินี้ ก็กลายเป็นอโหสิกรรม ไม่มีผลต่อไป เหตุที่ให้ผลในชาตินี้ เพราะเป็นเจตนาดวงแรก ไม่ถูกกรรมอื่นครอบงำ เป็นการปรุงแต่งแต่เริ่มต้น จึงมีกำลังแรง แต่ไม่ให้ผลต่อจากชาตินี้ไปอีก เพราะไม่ได้การเสพคุ้น จึงมีผลเล็กน้อย ท่านเปรียบว่า เหมือนพรานเห็นเนื้อ หยิบลูกศรยิงไปทันที ถ้าถูก เนื้อก็ล้มที่นั่น แต่ถ้าพลาด เนื้อก็รอดไปเลย
๒. อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิด คือในภพหน้า ได้แก่ กรรมดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ที่กระทำในขณะแห่งชวนจิตดวงสุดท้าย ในบรรดาชวนจิตทั้ง ๗ แห่งชวนวิถีหนึ่งๆ พูดเป็นภาษาวิชาการว่า ได้แก่ชวนเจตนาที่ ๗ กรรมนี้ให้ผลเฉพาะในชาติถัดจากนี้ไปเท่านั้น ถ้าไม่มีโอกาสให้ผลในชาติหน้า ก็กลายเป็นอโหสิกรรม ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเป็นเจตนาท้ายสุดของชวนวิถี เป็นตัวให้สำเร็จความประสงค์ และได้ความเสพคุ้นจากชวนเจตนาก่อนๆ มาแล้ว แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีกำลังจำกัด เพราะเป็นขณะจิตที่กำลังสิ้นสุดชวนวิถี
๓. อปราปริยเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพต่อๆ ไป ได้แก่ กรรมดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ที่ทำในขณะแห่งชวนจิตทั้ง ๕ ในระหว่าง คือ ในชวนจิตที่ ๒-๖ แห่งชวนวิถีหนึ่งๆ พูดเป็นภาษาวิชาการว่า ได้แก่ ชวนเจตนาที่สอง ถึงที่หก กรรมนี้ให้ผลได้เรื่อยไปในอนาคต เมื่อเลยจากภพหน้าไปแล้ว คือ ได้โอกาสเมื่อใด ก็ให้ผลเมื่อนั้น ไม่เป็นอโหสิกรรม ตราบเท่าที่ยังอยู่ในสังสารวัฏ ท่านเปรียบเหมือนสุนัขไล่เนื้อ ตามทันเมื่อใด ก็กัดเมื่อนั้น
๔. อโหสิกรรม กรรมเลิกให้ผล ได้แก่ กรรมดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ซึ่งไม่ได้โอกาสที่จะให้ผลภายในเวลาที่จะออกผลได้ เมื่อผ่านล่วงเวลานั้นไปแล้ว ก็ไม่ให้ผลอีกต่อไป (อโหสิกรรมนี้ ความจริงเป็นคำสามัญแปลว่า “กรรมได้มีแล้ว” แต่ท่านนำมาใช้เป็นคำศัพท์เฉพาะในความหมายว่า “มีแต่กรรมเท่านั้น วิบากไม่มี” ดู วิสุทฺธิ.๓/๒๒๓ ย่อจาก ขุ.ปฏิ.31/523/414 มิใช่แปลว่าเลิกให้ผล หรือให้ผลเสร็จแล้ว อย่างที่แปลแบบให้เข้าใจกันง่ายๆ ตามสำนวนที่เคยชิน)
หมวดที่ ๒ ว่าโดยกิจ คือ จำแนกการให้ผลตามหน้าที่
๕. ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิด หรือกรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด ได้แก่ กรรมคือเจตนา ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ที่เป็นตัวทำให้เกิดขันธ์ที่เป็นวิบาก ทั้งในขณะที่ปฏิสนธิ และในเวลาที่ชีวิตเป็นไป (ปวัตติกาล)
๖. อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน ได้แก่ กรรมพวกเดียวกับชนกกรรม ซึ่งไม่สามารถให้เกิดวิบากเอง แต่เข้าช่วยสนับสนุน หรือซ้ำเติม ต่อจากชนกกรรม ทำให้สุขหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นในขันธ์ ซึ่งเป็นวิบากนั้น เป็นไปนาน
๗. อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น ได้แก่ กรรมฝ่ายตรงข้ามกับชนกกรรม ซึ่งให้ผลบีบคั้นผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรม ทำให้สุขหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นในขันธ์ ซึ่งเป็นวิบากนั้น ไม่เป็นไปนาน
๘. อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน ได้แก่ กรรมฝ่ายตรงข้ามที่มีกำลังแรง เข้าตัดรอนความสามารถของกรรมอื่นที่มีกำลังน้อยกว่าเสีย ห้ามวิบากของกรรมนั้นขาดไปเสียทีเดียว แล้วเปิดช่องแก่วิบากของตน เช่น ปิตุฆาตกรรมของพระเจ้าอชาตศัตรู ที่ตัดรอนกุศลกรรมของพระองค์เสีย เป็นต้น