| |
พุทธศาสนาสอนว่า สุขถึงได้ด้วยสุข  |   |  

ไม่ค่อยได้สังเกตกันว่า พระพุทธศาสนานี้เป็นศาสนาแห่งความสุข ยิ่งบางทีไปเจอคำสอนบางเรื่องทำนองว่า นั่นก็ทุกข์ นี่ก็ทุกข์ ก็นึกว่าพุทธศาสนาเต็มไปด้วยเรื่องทุกข์ บางคน พอเจออริยสัจ ๔ ขึ้นต้นข้อแรกว่า “ทุกข์” หรือพระดำรัสสรุปอริยสัจว่า ทั้งในกาลก่อนและบัดนี้ เราสอนแต่ทุกข์ และนิโรธแห่งทุกข์ ก็อาจจะถึงกับบอกว่า พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาแห่งความทุกข์

เรื่องนี้ควรย้ำกันบ่อยๆ ว่า อริยสัจนั้น พระพุทธเจ้าตรัสกิจต่ออริยสัจกำกับไว้ ถ้าใครทำกิจต่ออริยสัจผิดไป ก็พลาดตั้งแต่ต้น ไม่ได้รู้จัก และไม่มีทางถึงพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะทุกข์นี้ เป็นอริยสัจข้อแรก จึงควรจะแม่นที่สุด ถ้าจะให้ง่าย ก็ท่องคำบาลีติดลิ้นไว้เลยว่า “ทุกฺข อริยสจฺจ ปริฺเยฺยํ” (ทุกขอริยสัจ พึงปริญญา)

เป็นอันว่า กิจหรือหน้าที่ของเราต่อทุกข์ คือ “ปริญญา” พูดเป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่า ทุกข์นั้นสำหรับรู้เข้าใจ หรือรู้เท่าทันด้วยปัญญา คือ ทุกข์เป็นเรื่องสำหรับปัญญา ไม่ใช่เป็นเรื่องสำหรับเก็บไว้บีบใจ แต่ให้ใช้ปัญญารู้เข้าใจและแก้ไขให้เสร็จสิ้นไป อย่างที่ว่า ถ้าทุกข์มา ก็ส่งให้ปัญญาเอาไปจัดการ นี่คือเริ่มเดินถูกทาง

คราวนี้ ก็มาถึงเรื่องความสุข ถ้าจะให้เห็นได้ง่าย ก็ดูที่พุทธประวัติ ทุกคนรู้ว่า ก่อนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ได้ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา คือบำเพ็ญตบะทรมานร่างกายต่างๆ ตามนิยมของยุคสมัย ครั้นแล้ว ทรงมองเห็นว่าเป็นการปฏิบัติที่ผิด จึงได้ทรงละเลิกทุกรกิริยา หันมาทรงดำเนินในทางสายกลาง อันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา จนได้ตรัสรู้ นี่คือ เรามักรู้ หรือเรียนกันมาอย่างนี้ ซึ่งเป็นทำนองคำสรุป แต่ถ้าเราเข้าไปดูพุทธประวัติ ณ จุดนี้ จากพระไตรปิฎกโดยตรง ก็จะรู้จักพระพุทธศาสนาชัดเจนมากขึ้น

พระพุทธเจ้าตรัสเล่าไว้ มีในโพธิราชกุมารสูตร เป็นต้น ว่า พระองค์เอง ก่อนตรัสรู้ ทรงดำริว่า “ความสุขจะลุถึงด้วยความสุขไม่ได้ แต่ความสุขนั้นจะต้องลุถึงด้วยความทุกข์” จึงได้เสด็จออกผนวช

ครั้นแล้ว ได้เสด็จไปศึกษาในอาศรมของสองดาบส หลังจากนั้นทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาด้วยความเพียรอย่างแรงกล้า ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส ก็ไม่เป็นผลอะไร ได้ทรงตระหนักว่า จะลุถึงคุณวิเศษด้วยทุกรกิริยาหาได้ไม่ ตรงนี้สำคัญมาก คือทรงเล่าต่อไปถึงพระดำริว่า “ทางแห่งโพธิจะพึงมีเป็นอย่างอื่น”


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |