| |
ก. ภาคมัชเฌนธรรมเทศนา หรือ ภาคกระบวนธรรม

หรือ ภาค(สภาว)สัจธรรม (ธรรมสำหรับรู้เท่าทัน)

พุทธธรรมมีหลักการว่า ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม ความจริงก็ดำรงอยู่ตามธรรมดาของมันอย่างเป็นกลางๆ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือ ทรงค้นพบความจริงนั้นแล้ว นำมาเปิดเผยไว้ สาระของความจริงนี้ก็คือ (ความเป็นไปตาม) ธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย หรือกระบวนธรรมแห่งเหตุปัจจัย

ผู้ที่มองสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น ไม่ใช่มองตามที่ตนอยากหรือไม่อยากให้มันเป็น จึงจะเข้าใจความจริงที่เป็นกลางนี้ได้ เมื่อเข้าใจธรรมที่เป็นกลางนี้แล้ว ก็ย่อมมองเห็นความจริงอย่างกว้างๆ ครอบคลุมทั่วไปทั้งหมด มีทัศนะเปิดกว้าง หลุดพ้นเป็นอิสระอย่างแท้จริง โดยหลุดพ้นทั้งทางจิต คือ จิตหลุดพ้นจากสิ่งบีบคั้นครอบงำที่เรียกว่ากิเลส และความทุกข์ กลายเป็นจิตที่ปลอดโปร่ง เบิกบาน เป็นสุข และด้านปัญญา คือ หลุดพ้นด้วยรู้เท่าทันธรรมดา แล้วมองเห็นความจริงที่ล้วนๆ บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสเคลือบแฝง หรือทำให้เอนเอียง และรู้ชัดแจ้งที่ความจริงโดยตรง ไม่ต้องรู้ผ่านใครๆ หรือรู้ตามที่ใครบอกอีกต่อไป

ธรรมดาแห่งเหตุปัจจัยนั้น ปรากฏในหลายรูปลักษณะ ดังตัวอย่างด้านอุตุนิยาม ธรรมนิยาม และกรรมนิยาม

ก) กระบวนการแห่งธรรมชาติแวดล้อม หรือ ปัจจยาการแห่งอุตุ

• ยอดเขาไกลาสสูงมาก → อากาศจึงหนาวจัด → เมฆจึงลงเป็นหิมะตลอดปี;

• นายอุณห์ขึ้นไปติดอยู่นานในหิมะ → ความเย็นทำให้เลือดข้นจับตัว → เลือดไม่ไหลไปเลี้ยงมือเท้า → มือเท้าปวดมากแล้วชาไป → แก้ไขไม่คืน → มือเท้าจึงพิการ ฯลฯ

ข) กระบวนการแห่งชีวิต หรือ ปัจจยาการแห่งกรรมระดับในจิตใจ

นาฬิกาตีบอกเวลา ๑๐ น.

• นาย ก. ได้ยิน (เป็นนักโทษ ถึงเวลาถูกนำตัวไปประหาร →หวาดกลัวมาก) → เข่าอ่อน ทรงตัวไม่อยู่;

• นาย ข. ได้ยิน (เป็นญาติของคนถูกนักโทษฆ่า → สมใจความแค้น) → ร้องตะโกน ดีใจ;

• นาย ค. ได้ยิน (เป็นญาติอีกคนหนึ่ง → แค้น แต่คำนึงกรรมวิบากของมนุษย์ เกิดความสลดใจ) → วางเฉย มีอาการสงบ;

• นาย ง. ได้ยิน (เป็นนักโทษประหารอีกคนหนึ่ง → เคยหวาดกลัว แต่คิดได้ถึงผลสมแก่กรรมของตน) → เดินไปกับผู้คุมโดยสงบ

ค) กระบวนการแห่งกรรม หรือ ปัจจยาการแห่งกรรมระดับบุคคล

• นาย จ. กล่าวคำหยาบแก่นาย ฉ. → นาย ฉ. เอาไม้ตีศีรษะ นาย จ. → นาย จ. ศีรษะแตก → นาย จ. เอาปืนยิง นาย ฉ. → นาย ฉ. บาดเจ็บสาหัส ฯลฯ

ง) กระบวนการแห่งวิวัฒนาการของสังคม หรือ ปัจจยาการแห่งกรรมระดับสังคม

• พืชงอกงามอยู่ตามธรรมชาติ คนไปเก็บกินเมื่อต้องการ → บางคนทำการสั่งสม → คนอื่นๆ พากันเอาอย่าง → มีการปักปันกั้นเขต → มีการลักขโมย → มีการติเตียนทำร้ายกัน → คนเห็นความจำเป็นจะต้องมีการปกครอง → มีการเลือกตั้งหัวหน้า → เกิดมีราชาหรือกษัตริย์ ฯลฯ (ตามอัคคัญญสูตร)


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |