| |
คำจำกัดความของสัมมาทิฏฐิ  |   |  

คำจำกัดความที่พบบ่อยที่สุด คือ ความรู้ในอริยสัจ ๔ ดังพุทธพจน์ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิ คืออะไร? ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ในทุกขนิโรธ ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ”1418

คำจำกัดความนอกจากนี้ ได้แก่

รู้อกุศลและอกุศลมูล กับ กุศลและกุศลมูล: “เมื่อใด อริยสาวกรู้ชัด ซึ่งอกุศล...อกุศลมูล...กุศล...และกุศลมูล ด้วยเหตุเพียงนี้ เธอชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง ประกอบด้วยความเลื่อมใสแน่วแน่ในธรรม เข้าถึงสัทธรรมนี้แล้ว”1419

เห็นไตรลักษณ์: “ภิกษุเห็นรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ ซึ่งเป็นของไม่เที่ยง ว่าไม่เที่ยง ความเห็นของเธอนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อเห็นชอบ ก็ย่อมหน่าย เพราะสิ้นเพลิน ก็สิ้นการย้อมติด เพราะสิ้นการย้อมติด ก็สิ้นเพลิน เพราะสิ้นเพลินและย้อมติด จิตจึงหลุดพ้น เรียกว่า พ้นเด็ดขาดแล้ว”1420.1

“ภิกษุเห็นจักษุ...โสตะ...ฆานะ...ชิวหา..กาย...มโน...รูป...เสียง...กลิ่น...รส...โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ ซึ่งเป็นของไม่เที่ยง ว่าไม่เที่ยง ความเห็นของเธอนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ”1394.2

เห็นปฏิจจสมุปบาท: คำจำกัดความแบบนี้ เป็นแบบที่มีมากแบบหนึ่ง และไม่จำเป็นต้องนำพุทธพจน์มาอ้าง เพราะเคยอ้างถึงมาแล้ว 1421

พุทธพจน์อีกแห่งหนึ่ง แยกความหมายของสัมมาทิฏฐิ เป็น ๒ ระดับ คือ ระดับที่เป็นสาสวะ กับ ระดับโลกุตระ

“ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิเป็นไฉน? เรากล่าวว่าสัมมาทิฏฐิมี ๒ อย่าง คือ สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ ซึ่งจัดเป็นฝ่ายบุญ อำนวยวิบากแก่ขันธ์ อย่างหนึ่ง กับ สัมมาทิฏฐิที่เป็นอริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตระ และเป็นองค์มรรค อย่างหนึ่ง”

“สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ จัดอยู่ในฝ่ายบุญ อำนวยวิบากแก่ขันธ์เป็นไฉน? คือความเห็นว่าทานที่ให้แล้วมีผล การบำเพ็ญทานมีผล การบูชามีผล กรรมที่ทำไว้ดีและชั่ว มีผล มีวิบาก โลกนี้มี ปรโลกมี มารดามี บิดามี สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะมี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้และปรโลกให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง มีอยู่ นี้แล สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ จัดเป็นฝ่ายบุญ อำนวยวิบากแก่ขันธ์”

“สัมมาทิฏฐิที่เป็นอริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน? คือ องค์มรรค ข้อสัมมาทิฏฐิ ที่เป็นตัวปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์ ของผู้มีจิตเป็นอริยะ มีจิตไร้อาสวะ มีอริยมรรคเป็นสมังคี ผู้กำลังเจริญอริยมรรคอยู่ นี้แล สัมมาทิฏฐิที่เป็นอริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค” 1422


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |