| |
ค. ความสำคัญและความสัมพันธ์ของคุณค่าทางจริยธรรม ๒ ด้าน  |   |  

ยังมีข้อควรทราบอีกบางประการเกี่ยวกับความสำคัญของคุณค่าทางจริยธรรมทั้งสองอย่างของไตรลักษณ์ พร้อมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างคุณค่าทั้งสองนั้น ซึ่งจะนำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้

๑. คุณค่าด้านการทำจิต กับคุณค่าด้านการทำกิจ ช่วยปิดช่องเสียของกันและกัน และช่วยเสริมกันให้เกิดคุณประโยชน์โดยสมบูรณ์

ก. คุณค่าด้านการทำจิต หรือคุณค่าเพื่อความหลุดพ้นเป็นอิสระ ช่วยเสริมคุณค่าด้านการทำกิจหรือคุณค่าเพื่อความไม่ประมาท ดังนี้

๑) ช่วยให้การทำกิจเป็นไปโดยบริสุทธิ์ คือ ทำการด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ ไม่มีเงื่อนปมของกิเลสที่แอบแฝงคอยชักพาไป ปฏิบัติตรงไปตรงมาตามเหตุปัจจัย เพื่อจุดมุ่งหมายที่ดีงามอย่างแท้จริง

๒) ช่วยให้การทำกิจดำเนินไปด้วยความสุข คือ ปิดช่องเสียสำคัญของนักทำกิจ ที่เมื่อกระตือรือร้นเร่งรัดทำงาน ก็มักทำด้วยความเร่าร้อนกระวนกระวาย มีความเครียดกังวลมาก เพราะทำด้วยถูกแรงกิเลสบีบคั้น เช่น ทำด้วยความกลัว ด้วยความคิดแข่งขันชิงดีชิงเด่นกัน เป็นต้น เปลี่ยนเป็นทำงานด้วยจิตใจที่สงบสุข เบิกบาน ผ่องใส ด้วยความรู้เท่าทัน ที่ช่วยให้ทำใจเป็นอิสระได้เสมอ

นอกจากนั้น ในเมื่อผู้ทำกิจเห็นคุณค่าของความบริสุทธิ์หลุดพ้นและความสงบสุขของจิตแล้ว การทำงานสร้างสรรค์พัฒนาต่างๆ ภายนอก ก็จะเป็นไปโดยมีความมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความมีชีวิตที่บริสุทธิ์และสุขสงบไปด้วย พูดสั้นๆ ว่า การพัฒนาวัตถุจะดำเนินไปพร้อมกับการพัฒนาจิตใจ

ข. คุณค่าด้านการทำกิจ หรือคุณค่าเพื่อความไม่ประมาท ช่วยเสริมคุณค่าด้านการทำจิตหรือคุณค่าเพื่อความหลุดพ้นเป็นอิสระ คือ ตามหลักสามัญที่ว่า คนทั่วไปเมื่อสุขสบายแล้ว ก็มักประมาท โดยหยุดนิ่งเฉยเสีย คือไม่กระตือรือร้นที่จะทำกิจต่อไป ไม่เฉพาะคนผู้สร้างสรรค์พัฒนาวัตถุหรือแก้ไขปัญหาภายนอกเท่านั้น ที่เมื่อเจริญสุขสบายแก้ไขปัญหาสำเร็จแล้ว มักจะประมาท แม้แต่คนที่ปลงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้แล้ว จิตใจหายทุกข์ โล่งสบาย ก็มักติดเพลินในความสงบสบายใจนั้น แล้วหยุดนิ่งเฉย ไม่แก้ไขปัญหาภายนอกที่ค้างคาอยู่ ไม่เร่งรัดตนเองให้ทำกิจที่ควรทำ ทั้งเพื่อพัฒนาตนเองและพัฒนาภายนอกต่อไป คุณค่าด้านการทำกิจของไตรลักษณ์ จะปิดช่องเสียนี้ และเร่งเร้าผู้นั้นให้กระตือรือร้นทำกิจต่อไป

กล่าวโดยย่อ ในการปฏิบัติที่ถูกต้อง คุณค่าทั้งสองด้านนี้จะต้องประสานและหนุนเสริมซึ่งกันและกัน การทำจิตจะต้องช่วยการทำกิจให้ได้ผลดียิ่งขึ้น โดยให้ทำอย่างบริสุทธิ์และมีความสุข ไม่ใช่มาหยุดหรือถ่วงการทำกิจ การทำกิจก็จะต้องเสริมการทำจิตไม่ให้กลายเป็นความติดเพลิน แต่ให้เร่งรัดก้าวหน้าต่อไป

การปฏิบัติที่ถูกต้องนั้น จะแก้ไขปัญหาเรื่องทำการด้วยใจมีทุกข์ และสบายแล้วหยุด ให้กลายเป็นทำกิจด้วยจิตสบาย และถึงแม้สบายก็ยังทำกิจ หรือ เมื่อสร้างความเจริญอยู่ ก็ไม่มีทุกข์ เมื่อเจริญสบายแล้ว ก็ไม่นิ่งหยุด สามารถเอาการทำจิตมาคุมการทำกิจ และเอาการทำกิจไปสนับสนุนการทำจิต ให้ได้ผลสมบูรณ์ด้วยกัน และพร้อมกันทั้งสองด้าน


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |  
หนังสือที่เกี่ยวข้อง