| |
๕) กรรม ที่ทำให้สิ้นกรรม  |   |  

ในหัวข้อว่าด้วยประเภทของกรรมข้างต้น เฉพาะหมวดสุดท้าย ได้จำแนกกรรมเป็น ๔ อย่าง ตามสภาพที่สัมพันธ์กับวิบากหรือการให้ผล คือ 502

๑. กรรมดำ มีวิบากดำ

๒. กรรมขาว มีวิบากขาว

๓. กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว

๔. กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม

เรื่องการให้ผลของกรรมเท่าที่บรรยายมานี้ จำกัดอยู่ในวงของกรรม ๓ ข้อต้น ที่มีชื่อว่า กรรมดำ กรรมขาว และกรรมทั้งดำทั้งขาว หรืออาจเรียกง่ายๆ ว่า กรรมดี และกรรมชั่ว จึงยังเหลือกรรมอย่างที่ ๔ ค้างอยู่

กรรมอย่างที่ ๔ นี้ มีลักษณะการให้ผลต่างออกไปจากกรรม ๓ ข้อต้นอย่างสิ้นเชิง จึงแยกออกมาพูดไว้ต่างหาก

คนทั่วไป และแม้แต่ชาวพุทธส่วนมาก มักสนใจกันแต่เรื่องกรรม ๓ อย่างแรก และมองข้ามกรรมข้อที่ ๔ นี้ไปเสีย ทั้งๆ ที่กรรมข้อสุดท้ายนี้ เป็นหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา และเป็นข้อปฏิบัติที่นำไปสู่จุดหมายที่แท้จริงของพุทธธรรม

กรรมดำ และกรรมขาว หรือกรรมดี-กรรมชั่วโดยทั่วไปนั้น แสดงออกเป็นการกระทำในรูปแบบต่างๆ มากมาย ซึ่งประมวลลงได้ในขอบเขตของหลักที่เรียกว่าอกุศลกรรมบถ ๑๐ และกุศลกรรมบถ ๑๐ เช่น การทำลายชีวิต การละเมิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ความประพฤติผิดทางเพศ การพูดชั่วหรือทำร้ายกันด้วยวาจา เป็นต้น และการทำความดีในทางตรงกันข้าม กรรมเหล่านี้เป็นเหตุให้ผู้กระทำประสบผลดีและผลร้ายต่างๆ ตามนัยที่กล่าวมาแล้ว เป็นเครื่องปรุงแต่งชีวิต พร้อมทั้งวิถีทางดำเนินของชีวิตนั้น ทำให้เขาทำกรรมดีและกรรมชั่วอื่นๆ ต่อไปอีก หมุนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ

ส่วนกรรมประเภทที่ ๔ นี้ มีลักษณะการให้ผลในทางตรงข้าม คือ เป็นกรรมที่ไม่ทำให้เกิดกรรมสั่งสมต่อๆ ไป แต่เป็นกรรมที่ทำแล้ว กลับทำให้สิ้นกรรม ทำให้หมดกรรม นำไปสู่ความดับกรรม หรือนำมาซึ่งความดับกรรม พูดง่ายๆ ว่า เป็นกรรมที่ทำแล้ว ไม่ทำให้เกิดมีกรรม

กรรมที่ทำให้สิ้นกรรม หรือกรรมที่สร้างภาวะปลอดกรรมนี้ ได้แก่การปฏิบัติตามหลักการที่นำไปสู่จุดหมายสูงสุดของพุทธธรรม ถ้ามองที่หลักอริยสัจ ๔ ก็ได้แก่ ข้อที่ ๔ ของอริยสัจนั้น คือ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งอาจจะจัดรูปใหม่ เป็นข้อปฏิบัติที่เรียกชื่ออย่างอื่น เช่น โพชฌงค์ ๗ หรือไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้น ก็ได้

บางทีท่านกล่าวถึงกรรมอย่างที่ ๔ นี้ โดยสัมพันธ์กับกรรม ๓ ข้อแรกว่า ได้แก่เจตนาเพื่อละกรรม ๓ อย่างนั้น ซึ่งก็คือการกระทำหรือการปฏิบัติ ที่ประกอบด้วยเจตจำนง หรือความคิดในทางที่เป็นการทำให้กรรม ๓ อย่างแรกไม่เกิดขึ้นนั่นเอง หรือถ้ากำหนดด้วยมูลเหตุ ก็เรียกว่า กรรมที่เกิดจากอโลภะ อโทสะ และอโมหะ

การพูดถึงกรรมนั้น ตามปกติจะมีความหมายโยงไปถึงเรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ความสุขและความทุกข์ เพราะความสุขและความทุกข์ เป็นผลสืบเนื่องไปจากกรรม โดยที่กรรมเป็นเหตุ และสุขทุกข์เป็นผล เมื่อยัง


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |  
หนังสือที่เกี่ยวข้อง