| |
ก) จุดเริ่มของการศึกษา และความไร้การศึกษา

ตัวแท้ของการศึกษา คือการพัฒนาตนโดยมีการพัฒนาปัญญาเป็นแกนกลางนั้น เป็นกระบวนการที่ดำเนินไปภายในตัวบุคคล แกนนำของกระบวนการแห่งการศึกษา ได้แก่ ความรู้ความเข้าใจ ความคิดเห็น แนวความคิด ทัศนคติ ค่านิยมที่ถูกต้องดีงาม เกื้อกูลแก่ชีวิตและสังคม สอดคล้องกับความเป็นจริง เรียกสั้นๆ ว่า สัมมาทิฏฐิ

เมื่อรู้เข้าใจ คิดเห็นดีงาม ถูกต้องตรงตามความจริงแล้ว การคิด การพูด การกระทำ และการแสดงออกหรือปฏิบัติการต่างๆ ก็ถูกต้องดีงาม เกื้อกูล นำไปสู่การดับทุกข์ แก้ไขปัญหาได้

ในทางตรงกันข้าม ถ้ารู้เข้าใจคิดเห็นผิด มีค่านิยม ทัศนคติ แนวความคิดที่ผิด ที่เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ แล้ว การคิด การพูด การกระทำ การแสดงออก และปฏิบัติการต่างๆ ก็พลอยดำเนินไปในทางที่ผิดพลาดด้วย แทนที่จะแก้ปัญหาดับทุกข์ได้ ก็กลายเป็นก่อทุกข์ สั่งสมปัญหา ให้เพิ่มพูนร้ายแรงยิ่งขึ้น

สัมมาทิฏฐิ นั้น แยกได้เป็น ๒ ระดับ คือ

๑. ทัศนะ ความคิดเห็น แนวความคิด ทฤษฎี ความเชื่อถือ ความนิยม ค่านิยม จำพวกที่เชื่อหรือยอมรับรู้การกระทำ และผลการกระทำของตน หรือสร้างความสำนึกในความรับผิดชอบต่อการกระทำของตน พูดอย่างชาวบ้านว่า เห็นชอบตามคลองธรรม เรียกสั้นๆ ว่า กัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ เป็น สัมมาทิฏฐิระดับโลกีย์ เป็นขั้นจริยธรรม

๒. ทัศนะ แนวความคิด ที่มองเห็นความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย ความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามสภาวะของมัน หรือตามที่มันเป็น ไม่เอนเอียงไปตามความชอบความชังของตน หรือตามที่อยากให้มันเป็นอยากไม่ให้มันเป็น ความรู้ความเข้าใจสอดคล้องกับความเป็นจริงแห่งธรรมดา เรียกสั้นๆ ว่า สัจจานุโลมิกญาณ เป็น สัมมาทิฏฐิแนวโลกุตระ เป็นขั้นสัจธรรม

มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด หลงผิด ก็มี ๒ ระดับ เช่นเดียวกัน คือ ทัศนะ แนวความคิด ค่านิยม ที่ปฏิเสธความรับผิดชอบ ไม่ยอมรับการกระทำของตน กับความไม่รู้ไม่เข้าใจโลกและชีวิตตามสภาวะ หลงมองสร้างภาพไปตามความอยากให้เป็น และอยากไม่ให้เป็นของตนเอง


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |