ไปยังหน้า : |
การแบ่งประเภทนิพพานที่รู้จักกันทั่วไป คือที่แบ่งเป็น นิพพานธาตุ ๒ ตามคัมภีร์อิติวุตตกะ708 ได้แก่
๑. สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุมีอุปาทิเหลือ หรือนิพพานยังมีเชื้อเหลือ
๒. อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุไม่มีอุปาทิเหลือ หรือนิพพานไม่มีเชื้อเหลือ
สิ่งที่เป็นเกณฑ์แบ่งประเภทในที่นี้คือ “อุปาทิ” ซึ่งอรรถกถาอธิบายว่า ได้แก่สภาพที่ถูกกรรมกิเลสถือครอง หรือสภาพที่ถูกอุปาทานยึดไว้มั่น หมายถึงเบญจขันธ์ (ขันธ์ ๕) 709 เมื่อถือความตามคำอธิบายนี้ จึงได้ความหมายว่า
๑. สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ ได้แก่ นิพพานยังมีเบญจขันธ์เหลือ หรือ นิพพานที่ยังเกี่ยวข้องกับเบญจขันธ์
๒. อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ได้แก่ นิพพานไม่มีเบญจขันธ์เหลือ หรือ นิพพานที่ไม่เกี่ยวข้องกับเบญจขันธ์ 710
นิพพานอย่างแรกแปลความหมายกันต่อไปอีกว่า หมายถึงดับกิเลส แต่ยังมีเบญจขันธ์เหลือ ได้แก่ นิพพานของพระอรหันต์ผู้ยังมีชีวิตอยู่ ตรงกับคำที่คิดขึ้นใช้ในรุ่นอรรถกถาว่า กิเลสปรินิพพาน (ดับกิเลสสิ้นเชิง)
ส่วนนิพพานอย่างที่สอง ก็แปลกันต่อไปว่า ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ ได้แก่ นิพพานของพระอรหันต์เมื่อสิ้นชีวิต ตรงกับคำที่คิดขึ้นใช้ในรุ่นอรรถกถาว่า ขันธปรินิพพาน (ดับขันธ์ ๕ สิ้นเชิง)711
เพื่อความแจ่มชัด และให้ผู้ศึกษาพิจารณาด้วยตนเอง ขอคัดข้อความตามพระบาลีเรื่องนี้มาลงไว้ดังนี้
“แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคองค์อรหันต์ได้ตรัสไว้ ข้าพเจ้าได้สดับมาดังนี้ ภิกษุทั้งหลาย นิพพานธาตุ ๒ อย่างเหล่านี้ กล่าวคือ สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ และอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ”
“ภิกษุทั้งหลาย สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นไฉน? ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นอรหันต์ สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้ว มีสังโยชน์เครื่องผูกมัดไว้กับภพหมดสิ้นไปแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ, อินทรีย์ ๕ ของเธอยังดำรงอยู่เทียว เพราะอินทรีย์ทั้งหลายยังไม่เสียหาย เธอย่อมได้เสวยอารมณ์ทั้งที่พึงใจและไม่พึงใจ ย่อมเสวยทั้งสุขและทุกข์; อันใดเป็นความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ ของเธอ, อันนี้เรียกว่าสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ”
“ภิกษุทั้งหลาย อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นอรหันต์ สิ้นอาสวะแล้ว...หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ, อารมณ์ที่ได้เสวย (เวทยิต) ทั้งปวง ในอัตภาพนี้แหละของเธอ ซึ่งเธอไม่ติดใจพัวพันแล้ว (อนภินันทิต) จักเป็นของเย็น, ข้อนี้เรียกว่า อนุปาทิ-เสสนิพพานธาตุ”