| |
ทุกข์มีทุกข์มา อย่าเสียท่าเอาใจรับ แต่จงเรียกปัญญาให้มาจับเอาทุกข์ไปจัดการ

เมื่อจะพัฒนาความสุข ก็ต้องไม่มองข้ามคำว่า “ทุกข์” เพราะรู้อยู่ชัดๆ ว่า ทุกข์นั้นก็มีอยู่ เหมือนเป็นของคู่กัน แต่ตรงข้ามกับสุข เมื่อทุกข์เป็นของจริงที่มีอยู่ เมื่อมองจะเอาความสุข ก็ต้องไม่มองข้ามความทุกข์ คือมองอะไร ก็ต้องมองให้ครบ มองให้เต็มตา มองตามความเป็นจริง ไม่ใช่หลีกหลบสายตา แล้วก็เลยไปค้างคาอยู่ในใจ

ยิ่งกว่านั้น ถ้าบอกว่ามีความสุข แต่ยังมีทุกข์อยู่ ก็เป็นสุขแท้สุขจริงไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่ว่าพัฒนาความสุข ก็หมายถึงลดทุกข์ หมดทุกข์ บำราศทุกข์ ปลอดทุกข์ ดับทุกข์ได้ไปด้วย

ดังนั้น เมื่อพูดถึงกระบวนการพัฒนาความสุขนี้ ก็อาจพูดอีกแนวหนึ่ง โดยเอา “ทุกข์” มาแทนคำว่า “สุข” กลายเป็นกระบวนการดับทุกข์ ก็อันเดียวกันนั่นเอง แต่อันนี้เด็ดขาดกว่า เพราะว่า ในกระบวนการดับทุกข์นั้น ไม่ว่าจะสุขแค่ไหน ก็ต้องให้ถึงขั้นไม่มีทุกข์เหลืออยู่เลย จึงจะจบ จึงจะครบเต็มความหมาย

ถ้าบอกว่ากระบวนการพัฒนาความสุข ก็เป็นปลายเปิดเรื่อยไป ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะถึงจุดหมาย ด้วยเหตุนั้น เมื่อว่าตามหลักวิชา ท่านจึงใช้สำนวนนี้ หรือในแนวนี้ว่าเป็นการ “ดับทุกข์”

อย่างไรก็ตาม มีแง่ที่ต้องพูดเพิ่มเติมให้เข้าใจชัดขึ้นอีกว่า คำว่า “ดับทุกข์” ที่ถือว่าแปลจากคำพระว่า “นิโรธ” นั้น ได้แฝงปมปัญหาในทางภาษาเอาไว้ด้วย คือปมความไม่ชัด ที่อาจจะทำให้เข้าใจเขว กล่าวคือ เวลาเราพูดว่าดับทุกข์ จะทำให้รู้สึกเหมือนว่า ทุกข์มีอยู่ๆ เราก็คอยดับๆ เราก็เลยจะต้องคอยดับทุกข์กันอยู่เรื่อยไป

ความจริงนั้น “นิโรธ” ในภาวะที่แท้ หมายถึงการไม่มีทุกข์เกิดขึ้น หรือภาวะที่ทุกข์ปราศไร้หายหมดไปเลย นี่คือความหมายที่ต้องการ นิโรธ ในขั้นสุดท้าย ก็คือนิพพาน จึงเป็นภาวะที่ไม่มีทุกข์เกิดขึ้นอีก

บางครั้งท่านอธิบายด้วยคำว่า “อนุปฺปาทนิโรธ” ก็แปลว่า ความดับไปโดยไม่มีการไม่เกิดขึ้น คือดับเด็ดขาด ดังนั้น เพื่อให้สะดวก นิโรธแห่งทุกข์ เราก็แปลว่า ความไม่มีทุกข์เกิดขึ้นอีก หรือภาวะไร้ทุกข์นั่นเอง

สำหรับในที่นี้ ไม่ใช้คำว่ากระบวนการดับทุกข์ คือหลบภาษาที่ใช้คำว่าทุกข์ และคงจะเพื่อให้สะดวกปากคนไทย หรือให้ถนัดใจคนฟัง ก็ใช้คำว่า “สุข” จึงบอกว่าเป็นกระบวนการพัฒนาความสุข

แต่ทั้งนี้ ก็ให้รู้กันว่า เราไม่ได้มองข้ามเรื่องความทุกข์ แต่จะว่าไปด้วยกัน เพราะฉะนั้น ในคำว่ากระบวนการพัฒนาความสุข ก็มีความหมายรวมไปถึงการจัดการในเรื่องความทุกข์ด้วย


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |