| |
บันทึกที่ ๑: ความเข้าใจสับสนเกี่ยวกับอนัตตา และนิพพาน

มีความเข้าใจสับสนเกี่ยวกับอนัตตาและนิพพาน เกี่ยวพันเข้ามาในตอนนี้ ซึ่งควรกล่าวถึงไว้เล็กน้อย กล่าวคือ ปัจจุบันในวงการชาวพุทธบางส่วน มีการใช้ถ้อยคำสำนวนพูดพาดพิงถึงอัตตาและอนัตตาในแง่จริยธรรมกันบ่อยๆ เช่นว่า คนนี้มีอัตตาแรง ลดหรือทำลายอัตตาลงเสียบ้าง เขาทำการต่างๆ ก็เพื่อเสริมความมั่นคงยิ่งใหญ่ของอัตตา ดังนี้เป็นต้น ซึ่งในหนังสือนี้ก็ใช้คำพูดอย่างนี้บ้างหลายแห่ง

ความจริง คำว่า “อัตตา” ในกรณีเช่นนี้ เป็นสำนวนพูดอย่างคนรู้กัน หมายถึงความยึดมั่นในอัตตา หรือภาพอัตตาที่ยึดถือไว้ด้วยอุปาทานเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่ามีอัตตาอะไรอยู่จริงจังเลย

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดสั้นๆ แบบรู้กันอย่างนี้บ่อยๆ และแพร่หลายออกไป ก็มีผู้ไม่เข้าใจความหมายโดยนัยแบบรู้กันเช่นนั้น แล้วนำไปใช้สับสน จนอนัตตาที่พูดถึงเป็นคนละเรื่องคนละราว ห่างไกลจากความหมายของอนัตตาในพุทธศาสนาอย่างไม่เกี่ยวข้องกันเลย เช่น เอาไปใช้เปรียบเทียบกับหลักในศาสนาอื่นว่า

- ภาวะเข้ารวมกับบรมสภาวะ หรือบรมสัตว์ เช่น พระพรหม ปรมาตมัน หรือพระผู้เป็นเจ้า กล่าวคือ การที่บุคคลเข้าถึงบรมสภาวะหรือบรมสัตว์ โดยตัวตนหรืออัตตาของบุคคลเข้ากลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับบรมสภาวะนั้น หรือว่าอัตตาคือตัวตนหายไปรวมอยู่ในสภาวะนั้น จนไม่มีการแบ่งแยกเป็นตัวตนของฉันหรือตัวตนของบุคคลเป็นต้นอีกต่อไป คงจะภาวะอย่างนี้แหละเรียกว่าเป็นอนัตตา

- คนที่ทำการต่างๆ ด้วยความรู้สึกหรือตั้งใจเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ว่า ทำเพื่อพระผู้เป็นเจ้า ไม่คำนึงถึงประโยชน์ของตนเอง มิได้ทำเพื่อตนเอง ไม่นึกถึงตัวเองหรือมีความรู้สึกเกี่ยวกับตัวตนเลย กรณีนี้คงถือได้ว่าคนผู้นั้นไม่มีอัตตา และภาวะเช่นนี้คงจะตรงกับหลักอนัตตาในพระพุทธศาสนา

ตัวอย่างทั้งสองนี้ มีผู้เคยยกขึ้นพูด แต่ความจริงไม่เกี่ยวข้องกับหลักอนัตตาแต่อย่างใดเลย เป็นคนละเรื่องละราวกันทีเดียว ไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาเทียบกันได้ เหมือนจะเทียบการไต่เขากับแม่น้ำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาเทียบกันแต่ประการใด

อนัตตาเป็นลักษณะของสิ่งทั้งหลาย เป็นเรื่องของสภาพที่เป็นจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย เป็นเรื่องสำหรับรู้ สำหรับเข้าใจ คือใช้ปัญญาพิจารณาให้เข้าใจความเป็นจริงที่มีอยู่เป็นอยู่ตามธรรมดาว่า สิ่งทั้งหลายไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เป็นแต่สภาวะที่มีอยู่เป็นอยู่ตามธรรมดาของมัน ไม่มีตัวแกน ตัวแฝง ตัวซ้อน ตัวผู้ครอบครองบังคับควบคุม ที่จะยึดถือเอาได้ว่าเป็นตัวตน เมื่อรู้เห็นเข้าใจถูกต้องแจ่มแจ้ง ก็เรียกว่าเป็นญาณ หรือวิชชา ทำให้จิตใจหลุดพ้นเป็นอิสระ ไม่ติดข้อง ไม่เป็นทาสของสิ่งทั้งหลาย เรียกว่าปัญญาวิมุตติ คือความหลุดพ้นด้วยปัญญา

โดยนัยนี้ อนัตตาจึงไม่ใช่เรื่องของการ (รู้สึกว่า) มีตัวตนอยู่ แล้วตัวตนนั้นมาหายไป หมดไป หรือเข้ารวมกับอะไรๆ อัตตาถูกกลืนหาย กลายไปเป็นภาวะอย่างนั้น แต่ประการใดเลย

ส่วนตัวอย่างที่สอง เป็นการพูดถึงความไม่เห็นแก่ตัว การหมดความเห็นแก่ตัว หรือการหมดความยึดมั่นในตัวตน ซึ่งก็หาใช่อนัตตาไม่ แต่มีส่วนสัมพันธ์กับหลักอนัตตาอยู่ในแง่ที่ว่า การมองเห็นความเป็นอนัตตา เป็นเหตุให้หมดความเห็นแก่ตัวหรือถอนความยึดมั่นในตัวตนลงได้ และจะต้องสำทับว่า คนจะหมดความเห็นแก่ตัวได้อย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อเกิดปัญญามองเห็นภาวะที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา

สำหรับตัวอย่างที่สองนี้ ควรพูดเสียใหม่ว่า “การมองเห็นความเป็นอนัตตา ก็ดี ความมีใจน้อมดิ่งไปในองค์พระเป็นเจ้า ตั้งใจเด็ดเดี่ยวว่าจะทำการเพื่อพระองค์ ก็ดี ต่างก็ทำให้คนไม่นึกถึงตน ไม่เห็นแก่ตน หมดหรือลดความเห็นแก่ตัวได้” แง่ที่เหมือนกันหรือเทียบกันได้ อยู่ที่ตรงนี้


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |