ไปยังหน้า : |
ทิฏฐธัมมิกะ และ สัมปรายิกะ มีรูปศัพท์ที่เป็นคำนามว่า ทิฏฐธรรม และ สัมปรายะ ตามลำดับ คำทั้งสี่นี้ มีใช้มากมาย ทั้งในบาลีและในคัมภีร์ชั้นหลัง (และมักพบในความหมายว่า ปัจจุบัน หรือชีวิตนี้ กับเบื้องหน้า เลยจากชีวิตนี้ไป หรือโลกหน้า เช่น ม.มู.12/198/172; ขุ.สุ.25/306/352; ฯลฯ) โดยเฉพาะที่คุ้นหูคุ้นตานักศึกษาธรรมมาก ได้แก่ที่มากับคำว่า อัตถะ เป็น ทิฏฐธัมมิกัตถะ และ สัมปรายิกัตถะ แปลกันว่า ประโยชน์ปัจจุบัน และประโยชน์ภายหน้า บางคราวมี ปรมัตถะ (ประโยชน์อย่างยิ่ง หรือประโยชน์สูงสุด) ตามมาด้วย รวมเป็นอัตถะ หรือประโยชน์ ๓ ขั้น
อย่างไรก็ดี ในคัมภีร์ขั้นต้นทีเดียว มีแต่อัตถะ ๒ คือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ และ สัมปรายิกัตถะ เท่านั้น มาคู่กัน (ดู วินย.๕/๒/๔; ที.ปา.10/226/274; ม.ม.13/596/543; สํ.ส.15/367/120; สํ.ส.15/379/126; องฺ.ปญฺจก.22/43/53; องฺ.ฉกฺก.22/324/407; ขุ.อิติ.25/201/242) และในกรณีเช่นนั้น สัมปรายิกัตถะ หมายถึงประโยชน์ที่สูงกว่า หรือเลยจากทิฏฐธัมมิกัตถะขึ้นไปทั้งหมด รวมทั้งประโยชน์ขั้นปรมัตถ์ด้วย
ส่วนคำว่า ปรมัตถะ ท่านใช้ลำพังต่างหาก เป็นคำโดดๆ ไม่รวมอยู่ในชุด โดยถือเป็นไวพจน์อย่างหนึ่งของนิพพาน (เช่น ขุ.สุ.25/296/338; ขุ.สุ.25/313/366; ม.ม.13/657/605) ต่อมา ในคัมภีร์ชั้นรอง จึงจัดเข้าชุดเป็นอัตถะ หรือประโยชน์ ๓ คือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ สัมปรายิกัตถะ และปรมัตถะ (35/240/165 (ขุ.จู.30/673/333; ขุ.จู.30/755/389) ในกรณีเช่นนี้ สัมปรายิกัตถะ ย่อมถูกจำกัดความหมายให้แคบเข้า เป็นประโยชน์เบื้องหน้า หรือเกี่ยวกับโลกหน้า ชั้นสวรรค์ ที่ต่ำกว่าปรมัตถ์ คือยังไม่ถึงนิพพาน
ที่ว่า “สัมปรายิกัตถะ” เดิมหมายถึงประโยชน์ชั้นสูงขึ้นไปทั้งหมด รวมทั้งปรมัตถะด้วยนั้น เช่น เมื่อคราวที่ท่านพรหมายุพราหมณ์ผู้เฒ่า ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ประทานโอกาสให้ท่านถามปัญหาได้ ทั้งที่เกี่ยวกับทิฏฐธัมมิกัตถะ และสัมปรายิกัตถะ พรหมายุพราหมณ์ดำริว่า สำหรับทิฏฐธัมมิกัตถะ ตัวท่านเองชำนาญอยู่แล้ว มีแต่คนอื่นมาถามท่าน ดังนั้น