ไปยังหน้า : |
การแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้า
เท่าที่พบในพระไตรปิฎก คือ
• ทรมานหัวหน้าชฎิล ชื่ออุรุเวลกัสสป (ทรมาน มาจาก ทมนะ แปลว่า ฝึก คือทำให้หมดทิฏฐิมานะ หันมายอมรับถือปฏิบัติสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่ทำให้เจ็บปวด) – วินย.4/37-51/45-60;
• ทรมานพกพรหม – ม.มู.12/551-555/590-597; สํ.ส.15/566/208;
• ทรมานพรหมอีกองค์หนึ่ง – สํ.ส.15/573/211;
• แก้ความเห็นของสุนักขัตต์ และแก้คำท้าของอเจลก ชื่อปาฏิกบุตร – ที.ปา.11/4-12/6-29;
• ทรมานโจรองคุลิมาล – ม.ม.13/524/479;
• ทำให้พระภิกษุพวกหนึ่งประหวั่นใจแล้ว มาเฝ้าเพื่อพระองค์จะตรัสสอน – สํ.ข.17/167/112;
• ทำให้จำเพาะบางคนเห็นมหาบุรุษลักษณะในที่เร้นลับ – ที.สี.9/170/136; ที.สี.9/175/139; ม.ม.13/587/531; ม.ม.13/608/553 = ขุ.สุ.25/376/443;
• แผ่เมตตาให้ช้างร้ายนาฬาคีรีมีอาการเชื่อง (ไม่ใช่อิทธิปาฏิหาริย์โดยตรง) – วินย.7/378/189;
• ผจญอาฬวกยักษ์ (ไม่ใช่แสดงฤทธิ์โดยตรง) – สํ.ส.15/838/314; ขุ.สุ.25/310/359;
เรื่องที่มาในอรรถกถา เช่น
• ยมกปาฏิหาริย์ แก้คำท้าของพวกเดียรถีย์ – ที.อ.๑/๗๗; ธ.อ.๖/๖๒; ชา.อ.๖/๒๓๑; (ทั้งนี้อิงบาลีใน ขุ.ปฏิ.31/0/4; ขุ.ปฏิ.31/284/182 และ วินย.7/31/14);
• ทรงนำพระภิกษุใหม่ ๕๐๐ รูป เที่ยวชมธรรมชาติในป่าหิมพานต์ แก้ความคิดถึงคู่รักคู่ครอง – ชา.อ.๘/๓๓๕; เป็นต้น
การแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ของพระสาวก
ที่พบในบาลี คือ
• พระปิณโฑลภารัทวาช แก้คำท้า เหาะขึ้นไปเอาบาตรบนยอดไผ่ (ต้นบัญญัติไม่ให้ภิกษุแสดงอิทธิปาฏิหาริย์แก่ชาวบ้าน) – วินย.7/31/14;
• พระมหาโมคคัลลาน์ ปราบมาร – ม.มู.12/559/601;
• พระปิลินทวัจฉะ นำบุตรของอุปฐาก กลับคืนจากโจร – วินย.1/173/125;
• พระปิลินทวัจฉะ อธิษฐานวังพระเจ้าพิมพิสารเป็นทอง เพื่อช่วยแก้ชาวบ้านจากข้อหาโจรกรรม – วินย.2/139/119-121;
• พระทัพพมัลลบุตร ใช้นิ้วเป็นประทีปส่องทาง นำพระภิกษุทั้งหลายไปยังเสนาสนะต่างๆ – วินย.1/541/369; วินย.6/593/306;
• พระสาคตะ ใช้ฤทธิ์ให้ชาวบ้านเห็น ทำให้ต้องแสดงฤทธิ์ให้ชาวบ้านดูต่อพระพักตร์ เพื่อให้ชาวบ้านใจสงบพร้อมที่จะฟังธรรม – วินย.5/1/3;
• พระสาคตะ ปราบนาคของชฎิล (ต้นบัญญัติห้ามภิกษุดื่มสุรา) – วินย.2/575/383;
• พระเทวทัต ทำให้เจ้าชายอชาตศัตรูเลื่อมใส – วินย.7/349/164;
• พระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลาน์ กลับใจหมู่ภิกษุศิษย์พระเทวทัต ด้วยอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ที่ควบด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ และอาเทศนาปาฏิหาริย์ – วินย.7/394/198;
• พระมหกะ บันดาลให้มีลมเย็น แดดอ่อน และฝน ช่วยพระเถระที่กำลังเดินยามร้อนจัด จิตตคฤหบดีเห็น จึงขอให้ทำฤทธิ์ให้ดู และท่านได้บันดาลให้เกิดไฟ – สํ.สฬ.18/556/357;