ไปยังหน้า : |
จากปฏิจจสมุปบาท และไตรลักษณ์ ที่เป็นความจริงตามธรรมดาของธรรมชาติ มาเป็นอริยสัจ อันเป็นความจริงเพื่อความรู้เข้าใจภายในปัญญาวิสัยของมนุษย์ และในอริยสัจ ๔ นั้น ก็มีมรรค ซึ่งเป็นการนำ ความรู้ในความจริงของธรรมชาติ มาจัดวางเป็นระบบปฏิบัติการในการพัฒนาความเป็นอยู่การดำเนินชีวิต โดยมนุษย์สามารถใช้ความรู้ในความจริงของธรรมชาตินั้นมาใช้มาปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่มนุษย์และแก่โลกทั้งหมดได้อย่างดีที่สุด
ทั้งหมดที่ว่ามานี้ ในความหมายหนึ่งก็คือ การที่มนุษย์หลุดพ้นเป็นอิสระจากอำนาจของ(ความเชื่อต่อ)พระพรหมเทพผู้เป็นใหญ่ ที่สร้างและจัดสรรบันดาลชีวิตและสังคมของมนุษย์ โดยที่มนุษย์สามารถจัดการกับชีวิตกับสังคมกับโลกเอง ด้วยปัญญาที่เข้าถึงความจริงสากลของธรรมชาตินั้น
ดังว่าแล้ว อริยสัจ ๓ ข้อแรก เป็นเรื่องของความจริงตามธรรมดาของธรรมชาติหรือกฎธรรมชาติ ที่นำเสนอต่อปัญญาของมนุษย์ โดยจัดวางตั้งไว้เป็นฐาน เป็นที่อ้างอิง ซึ่งปฏิบัติการของมนุษย์ในอริยสัจข้อที่ ๔ จะต้องเป็นไปและให้เกิดผลสมตามหรือสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติในอริยสัจ ๓ ข้อแรกนั้น
เมื่อการปฏิบัติหรือดำเนินมรรคสอดคล้องสมตามความจริงของกฎธรรมชาติ ดังที่แสดงในอริยสัจทั้ง ๓ ข้อต้นนั้น ก็เป็นการปฏิบัติ เป็นวิถีชีวิตที่ตรงกลางพอดีที่จะให้บรรลุจุดหมาย เรียกว่าเป็น มัชฌิมาปฏิปทา ดังที่แปลกันว่าเป็นทางสายกลาง ซึ่งมีลักษณะที่บอกกำกับไว้คร่าวๆ ว่า ไม่กลายเป็น สุดโต่งที่พลาดไป ทั้งทางตึงเครียดบีบคั้นตัวให้ยากลำบาก และทางย่อหย่อนที่สยบอยู่กับการบำเรอตัว
มรรคที่เป็นการพัฒนาชีวิตบนฐานแห่งความจริงของกฎธรรมชาตินั้น ดำเนินไปตามกระบวนปัจจยาการฝ่ายนิโรธ ที่ตั้งต้นว่า “อวิชฺชาย...นิโรธา สงฺขารนิโรโธ” คือดับอวิชชา นี่คือกระบวนการดับทุกข์ปลอดไร้ปัญหาดำเนินไปด้วยการพัฒนาปัญญายิ่งขึ้นไป จนอวิชชาดับหาย กลายเป็นมีวิชชา เข้าถึงภาวะที่ทุกข์สลาย ปัญหาหายหมดไป ดังนั้น มรรคจึงเริ่มด้วยปัญญา และปัญญาเริ่มแรกนั้นก็ต้องการให้มีพอเป็นทุนตั้งต้น