ไปยังหน้า : |
ในชั้นเดิม เท่าที่สอบค้นดู พอจะกล่าวได้ว่า ท่านจัดแบ่ง อัตถะ หรือจุดหมายนี้ไว้เป็น ๒ ระดับ เหมือนอย่างในบาลีที่ยกมาอ้างไว้นั้น กล่าวคือ
๑. ประโยชน์ขั้นต้น เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ แปลว่า ประโยชน์ปัจจุบัน หรือประโยชน์บัดนี้
๒. ประโยชน์ขั้นล้ำ เรียกว่า สัมปรายิกัตถะ แปลว่า ประโยชน์เบื้องหน้า หรือประโยชน์เบื้องสูง
ในกรณีเช่นนี้ ปรมัตถะ หรือประโยชน์สูงสุด ก็รวมอยู่ด้วยในข้อ ๒ สัมปรายิกัตถะ1106 คือเป็นส่วนยอดสุดของประโยชน์ขั้นที่ ๒ นั้น แต่ในชั้นหลัง ท่านคงประสงค์จะเน้นปรมัตถะให้เด่นชัดเป็นพิเศษ จึงแยกออกมาเป็นอีกข้อหนึ่งต่างหาก และจัดประโยชน์หรือจุดหมายนั้นเป็น อัตถะ ๓ ชั้น1107 ดังมีความหมายโดยสรุปดังนี้
๑. ทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์บัดนี้ ประโยชน์ขั้นตาเห็น ประโยชน์ชีวิตนี้ หรือประโยชน์ปัจจุบัน เป็นจุดหมายขั้นต้น หรือจุดหมายเฉพาะหน้า หมายถึงประโยชน์อย่างที่มองเห็นๆ กันอยู่ ที่เข้าใจกันง่ายๆ เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องชั้นนอก หรือเรื่องธรรมดาสามัญที่มุ่งหมายกันในโลกนี้ ได้แก่ ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ หรือทรัพย์สิน ฐานะ เกียรติ ไมตรี ชีวิตคู่ครองที่เป็นสุข เป็นต้น รวมถึงการแสวงหาสิ่งเหล่านี้โดยทางชอบธรรม การปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้โดยทางที่ถูกต้อง การใช้สิ่งเหล่านี้ทำตนและคนที่เกี่ยวข้องให้มีความสุข การอยู่ร่วมกันด้วยดี ปฏิบัติหน้าที่ต่อกันอย่างถูกต้องในระหว่างมนุษย์ เพื่อความสุขร่วมกัน
๒. สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์เบื้องหน้า ประโยชน์ขั้นเลยตาเห็น หรือประโยชน์ที่ลึกล้ำยิ่งกว่าที่จะมองเห็นกันเฉพาะหน้าหรือผิวเผินภายนอก เกี่ยวด้วยชีวิตด้านใน หรือประโยชน์ด้านคุณค่าของชีวิต เป็นจุดหมายขั้นสูงขึ้นไป ซึ่งเป็นหลักประกันชีวิตเมื่อละโลกนี้ไป หรือเป็นเครื่องประกันการได้คุณค่าที่สูงล้ำเลิศยิ่งกว่าสิ่งที่จะพึงได้กันตามปกติในโลกนี้ ได้แก่ ความเจริญงอกงามแห่งชีวิตจิตใจ ที่ก้าวหน้าเติบใหญ่ขึ้นด้วยคุณธรรม ความใฝ่ใจในทางศีลธรรม ในเรื่องบุญเรื่องกุศล ในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม กิจกรรมที่อาศัยศรัทธาและความเสียสละ การมีความมั่นใจในคุณธรรม มีความสงบสุขทางจิตใจ การรู้จักปีติสุขที่ประณีตด้านในตลอดจนคุณวิเศษที่เป็นผลสำเร็จทางจิต คือฌานสมาบัติ (เดิมรวมถึงการตรัสรู้ที่เป็นปรมัตถ์ด้วย)
สัมปรายิกัตถะนี้ เป็นขั้นที่ผ่อนคลายความยึดติดผูกพันในวัตถุ ทำให้ไม่ยอมตีค่าผลประโยชน์ด้านอามิสสูงเกินไป จนจะต้องมุ่งไขว่คว้ายอมสยบ หรือเป็นเหตุให้กระทำกรรมชั่วร้าย หันมาให้คุณค่าแก่คุณธรรมความดีงาม รู้จักทำการด้วยความใฝ่ธรรม รักความดีงาม รักคุณภาพชีวิตและความเจริญงอกงามของจิตใจ เมื่อลุถึงอัตถะขั้นนี้ ก็จะมีผลย้อนกลับมาให้ใช้ให้ปฏิบัติต่อทิฏฐธัมมิกัตถะ ในทางที่เป็นคุณเกื้อกูลแก่ชีวิตและสังคม เช่น แทนที่จะมุ่งใช้เงินทองบำเรออามิสสุข ก็หันไปใช้ทรัพย์นั้นสงเคราะห์คน และทำกิจกรรมพัฒนาชีวิตสูงขึ้นไป