ไปยังหน้า : |
เมื่อพิจารณาในแง่ผลต่อคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับฤทธิ์แล้ว คราวนี้ลองมาพิจารณาดูแนวปฏิบัติจากพระจริยาวัตรของพระบรมศาสดาและพระสาวกทั้งหลายผู้เรืองฤทธิ์ ว่าท่านใช้ฤทธิ์หรือปฏิบัติต่ออิทธิปาฏิหาริย์กันอย่างไร
สำหรับองค์พระพุทธเจ้าเอง ปรากฏชัดจากพุทธดำรัสที่อ้างแล้วข้างต้นว่า ทรงรังเกียจ ไม่ทรงโปรด ทั้งอิทธิปาฏิหาริย์และอาเทศนาปาฏิหาริย์ แต่ทรงสนับสนุนอนุสาสนีปาฏิหาริย์ และทรงใช้ปาฏิหาริย์ข้อหลังนี้อยู่เสมอ เป็นหลักประจำแห่งพุทธกิจ หรือว่าให้ถูกแท้คือ เป็นตัวพุทธกิจทีเดียว ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลดังแสดงแล้วข้างต้น
แต่ก็ปรากฏอยู่บางคราวว่า มีกรณีที่ทรงใช้อิทธิปาฏิหาริย์บ้างเหมือนกัน และเมื่อพิจารณาจากกรณีเหล่านั้นแล้ว ก็สรุปได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงใช้อิทธิปาฏิหาริย์ เฉพาะในกรณีที่จะทรงทรมานผู้มีฤทธิ์ ผู้ถือฤทธิ์เป็นเรื่องสำคัญ หรือผู้ถือตัวว่าเป็นผู้วิเศษ ให้ละความหลงใหลมัวเมาในฤทธิ์ พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ใช้ฤทธิ์ปราบฤทธิ์ เพื่อให้ผู้ชอบฤทธิ์หรือลำพองในฤทธิ์ ตระหนักในคุณค่าอันจำกัดของฤทธิ์ มองเห็นสิ่งอื่นที่ดีงามประเสริฐกว่าฤทธิ์ และพร้อมที่จะเรียนรู้หรือรับฟังสิ่งอันประเสริฐนั้น ซึ่งจะทรงชี้แจงสั่งสอนแก่เขาด้วยอนุสาสนีปาฏิหาริย์ต่อไป
ทั้งนี้ ตรงกับหลักที่กล่าวข้างต้นว่า ใช้อิทธิปาฏิหาริย์ประกอบอนุสาสนีปาฏิหาริย์ แต่เป็นการใช้ประกอบในขอบเขตจำกัดอย่างยิ่ง คือเฉพาะในกรณีที่ผู้รับคำสอนฝักใฝ่ในฤทธิ์หรือเมาฤทธิ์ แสดงทิฏฐิมานะต่อพระองค์เท่านั้น เช่น เรื่องการทรมานพระพรหม เป็นต้น
ส่วนพระมหาสาวกทั้งหลาย ก็มีเรื่องราวเล่ามาบ้างว่า ใช้ฤทธิ์ประกอบอนุสาสนีแก่ผู้ฝักใฝ่ฤทธิ์ เช่น เรื่องที่พระสารีบุตรสอนหมู่ภิกษุศิษย์พระเทวทัต ด้วยอาเทศนาปาฏิหาริย์ควบกับอนุสาสนีปาฏิหาริย์ พระมหาโมคคัลลาน์ สอนด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ควบกับอนุสาสนีปาฏิหาริย์
ส่วนการทำอิทธิปาฏิหาริย์เพื่ออนุเคราะห์ช่วยเหลือ มีเรื่องเล่ามาบ้างน้อยเหลือเกิน แต่กรณีที่ขอร้องให้ช่วยเหลือด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ ไม่พบในพระไตรปิฎกเลยแม้แต่แห่งเดียว จะมีผู้ขอร้องพระบางรูปให้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์บ้าง ก็เพียงเพราะอยากดูเท่านั้น 1952 และการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้ชาวบ้านดู พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามไว้แล้วดังได้กล่าวข้างต้น
ในที่นี้ ขอย้ำข้อคิดตามหลักพระพุทธศาสนาไว้อีกครั้งหนึ่งว่า ในชีวิตที่เป็นจริง ในระยะยาว หรือตามปกติธรรมดาของมนุษย์ มนุษย์ก็ต้องอยู่กับมนุษย์ และเป็นอยู่ด้วยเหตุผลสามัญของมนุษย์เอง จะมัวหวังพึ่งอำนาจภายนอกที่มองไม่เห็น ซึ่งไม่ขึ้นกับตนเองอยู่อย่างไร
ทางที่ดี ควรจะหันมาพยายามฝึกหัดตนเอง และฝึกปรือกันเอง ให้มีความรู้ความสามารถชำนิชำนาญในการแก้ปัญหา ตามวิถีทางแห่งเหตุผลอย่างสามัญของมนุษย์นี้แหละ ให้สำเร็จโดยชอบธรรม ความสามารถที่ทำได้สำเร็จอย่างนี้ ท่านก็จัดเป็นฤทธิ์อย่างหนึ่ง และเป็นฤทธิ์ที่ถูกต้องตามหลักการของพระพุทธศาสนา มีทั้ง อามิสฤทธิ์ และ ธรรมฤทธิ์ 1953 โดยถือธรรมฤทธิ์เป็นหลักนำ