ไปยังหน้า : |
มาดูกันสักนิดว่า จากความจริงตามธรรมชาติของปฏิจจสมุปบาท มาเป็นความจริงของมนุษย์ที่ เรียกว่าอริยสัจ อย่างไร
กระบวนปัจจยาการของปฏิจจสมุปบาท วางพอเห็นภาพดังนี้
สมุทยวาร: อวิชชา → สังขาร → ฯลฯ → เวทนา → ตัณหา → ฯลฯ → ทุกข์
นิโรธวาร: อวิชชาดับ → สังขารดับ → ฯลฯ → เวทนาดับ → ตัณหาดับ → ฯลฯ → นิโรธ
ว่าตามกฎธรรมชาติ ปัจจยาการมี ๒ กระบวน หรือ ๒ สายเท่านี้ เมื่อจะสื่อสารกับคนในโลกพระพุทธเจ้าทรงนํามาตรัสแสดงสั่งสอนเป็นระบบนําเสนอที่มี ๔ ข้อ เรียกว่า อริยสัจ ๔ ดังนี้
๑. ปัจจยาการแรก เป็นกระบวนการเกิดขึ้นของทุกข์ โดยมีปัจจัยต่อเนื่องกันมาเป็นสายจนมีผล เกิดขึ้น คือ ทุกข์ เมื่อว่าตามธรรมชาติ ตลอดทั้งสายนั้นเป็นกระบวนการอันเดียวจากเหตุไปสู่ผล มองเห็นเหมือนเป็นเส้นเป็นแท่งอะไรอันหนึ่ง ไม่มีจุดสนใจ และรอการชี้แจง ยากที่จะเข้าใจ
เพื่อจะสื่อกับมนุษย์ พระพุทธเจ้าทรงจับเอาทุกข์ตัวเดียว ที่เป็นผลสุดท้ายอยู่ปลายกระบวน แต่เป็นเรื่องที่ใกล้ชิดติดตัวคนซึ่งเขาประสบพบวุ่นวายอยู่กับมัน ทรงยกขึ้นมาตั้งให้เด่นเป็นตัวปัญหา ที่จะดึงความสนใจให้คนสะดุดแล้วหยุดมอง เป็นจุดเริ่มต้นให้คนเข้ามาหามาพบมาถามมาถกกัน ในการที่จะพิจารณาเพื่อหาทางแก้ไข จัดวางเป็นหลักความจริงข้อแรก เป็นจุดตั้งต้น เรียกว่า อริยสัจ ข้อที่ ๑ คือ ทุกข์
ในการที่จะแก้ปัญหา ดับทุกข์นั้น ก็ต้องรู้จักทุกข์ ทําความเข้าใจปัญหา กลายเป็นเรื่องใหญ่ เป็นข้อที่สําคัญเริ่มแรก
๒. เมื่อมีทุกข์ประสบปัญหา จะแก้ไข ก็ต้องสืบสาวค้นหาสาเหตุให้รู้บรรดาปัจจัยที่จะต้องจัดการสลาย และเมื่อว่าตามปัจจยาการแรก ที่เป็นกระบวนการเกิดขึ้นของทุกข์นั้น บรรดาปัจจัยที่ต่อเนื่องกันเป็นสายตั้งแต่อวิชชามาตลอดกระบวน ถึงจุดที่จะมีทุกข์เป็นผลเกิดขึ้น รวมเรียกเป็นคําเดียวว่าการก่อกําเนิด ประกอบด้วยบรรดาเหตุปัจจัยที่จะต้องรู้เข้าใจและแก้ไขกําจัดให้หมดสิ้นไป (มักจับจุดเน้นที่ตัณหา) จัดวางเป็นหลักความจริงข้อต่อมา เรียกว่า อริยสัจ ข้อที่ ๒ คือ สมุทัย แปลกันว่าเหตุเกิดแห่งทุกข์