ไปยังหน้า : |
พึงสังเกตความหมายของศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ระดับนี้ เทียบกับในตอนว่าด้วยพระโสดาบันโดยตรง ที่ผ่านมาแล้ว
• “ผู้ใด ไม่มีโสตาปัตติยังคะ ๔ ประการ (ศรัทธาในพระรัตนตรัย และศีลที่อริยชนชื่นชม หรือยอมรับ) เลยโดยประการทั้งปวง, ผู้นั้น เราเรียกว่ายังเป็นคนนอก อยู่ข้างฝ่ายปุถุชน”1848
• พระเจ้ามหานาม: พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงไร บุคคลจึงจะชื่อว่า เป็นอุบาสก?
พระพุทธเจ้า: เพราะการที่บุคคลเป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ, ด้วยเหตุเพียงนี้แล บุคคลชื่อว่าเป็นอุบาสก
พระเจ้ามหานาม: : พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงไร อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล?
พระพุทธเจ้า: เพราะการที่อุบาสกเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต...จากอทินนาทาน...จากกาเมสุมิจฉาจาร...จากมุสาวาท...จากสุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน, ด้วยเหตุเพียงนี้แล อุบาสกชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล
พระเจ้ามหานาม: พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงไร อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา?
พระพุทธเจ้า: ในข้อนี้ อุบาสกเป็นผู้มีศรัทธา เชื่อโพธิ (ปัญญาตรัสรู้) ของตถาคตว่า ด้วยเหตุผลดังนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ฯลฯ เป็นพระผู้ทรงพระเจริญ, ด้วยเหตุเพียงแค่นี้ อุบาสกชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา
พระเจ้ามหานาม: พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงไร อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ?
พระพุทธเจ้า: ในข้อนี้ อุบาสกอยู่ครองเรือน ด้วยใจปราศจากมลทินคือความหวงแหน ฯลฯ ยินดีในการให้การแบ่งปัน, ด้วยเหตุเพียงนี้แล อุบาสกชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ
พระเจ้ามหานาม: พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงไร อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา?
พระพุทธเจ้า: ในข้อนี้ อุบาสกเป็นผู้มีปัญญา ฯลฯ ทะลวงกิเลสได้ (หรือเจาะสัจธรรมได้) อันให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ, ด้วยเหตุเพียงนี้แล อุบาสกชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา”1849