| |
ก) ลักษณะภายนอกและชีวิตหมู่  |   |  

ในธรรมเจติยสูตร พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ตรัสข้อความพรรณนาความเลื่อมใสของพระองค์ต่อพระรัตนตรัย ถวายแด่พระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธองค์ทรงรับรองว่าเป็นธรรมเจดีย์ มีประโยชน์ เป็นหลักเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ และทรงแนะนำให้พระสงฆ์ศึกษาทรงจำไว้

ในข้อความเหล่านั้น มีข้อหนึ่งพรรณนาลักษณะความเป็นอยู่ของพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ดังนี้

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้ออื่นยังมีอีก หม่อมฉันเดินเที่ยวไปตามอารามต่างๆ ตามอุทยานต่างๆ อยู่เนืองๆ, ณ ที่นั้นๆ หม่อมฉันได้เห็นเหล่าสมณพราหมณ์ ที่ซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ผ่องใส ผอมเหลือง ตามตัวสะพรั่งด้วยเส้นเอ็น ดูไม่ชวนตาให้อยากมอง742 , หม่อนฉันได้เกิดความคิดว่า พระคุณเจ้าเหล่านี้ คงไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์เป็นแน่ หรือไม่ก็คงมีบาปกรรมอะไรที่ทำแล้วปกปิดไว้...;

“แต่หม่อมฉันได้เห็นภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ สดชื่นร่าเริง มีใจเบิกบาน มีรูปร่างท่าทางน่ายินดี มีอินทรีย์เอิบอิ่ม ไม่วุ่นวาย มีขนตกราบ (ใจสงบ ผ่อนคลาย มีความมั่นใจไม่ตื่นกลัว) เลี้ยงชีวิตตามแต่เขาจะให้ 743 มีใจดังมฤคอยู่ (มีใจอ่อนโยน ไม่คิดรบกวนหรือหวังประโยชน์จากใคร รักอิสระ จะไปไหนก็ไปโดยเสรี) หม่อนฉันได้มีความคิดว่า พระคุณเจ้าเหล่านี้คงรู้คุณวิเศษที่ยิ่งใหญ่ขึ้นไปกว่าเดิม ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นแน่...,

“แม้ข้อนี้ (ก็เป็นเหตุให้) หม่อมฉันมีความคำนึงซาบซึ้งธรรม ในพระผู้มีพระภาคว่า “พระผู้มีพระภาคเป็นสัมมาสัมพุทธะ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว”744

“ภิกษุเหล่านั้น เดินออกจากที่อยู่นั้นๆ คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา...แต่เช้าตรู่ มีกิริยาเดินไปข้างหน้า ถอยกลับ แลเหลียว คู้แขน เหยียดแขน น่าเลื่อมใส มีจักษุทอดลง สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ”745

“ตราบใด ภิกษุทั้งหลายจักยังพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันขมีขมันแก้ไขสิ่งเสียหาย พร้อมเพรียงกันทำกิจที่สงฆ์พึงทำ, ตราบนั้น ภิกษุทั้งหลายพึงหวังความเจริญถ่ายเดียว ไม่มีเสื่อมเลย”746


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |