| |
อธิบายเชิงเปรียบเทียบ  |   |  

สรุปความเท่าที่กล่าวมา เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับทำความเข้าใจกันต่อไป ดังนี้

๑. ตัณหา มุ่งประสงค์เวทนา และจึงต้องการสิ่งสำหรับเอามาเสพเสวยเวทนา หรือสิ่งที่จะปรนปรือตัวตน ตัณหาอาศัยอวิชชาคอยหล่อเลี้ยงและให้โอกาส พัวพันเกี่ยวเนื่องอยู่กับเรื่องตัวตน เอาอัตตาเป็นศูนย์กลาง และนำไปสู่ปริเยสนา หรือการแสวงหา

๒. ฉันทะ มุ่งประสงค์อัตถะคือตัวประโยชน์ (หมายถึงสิ่งที่มีคุณค่าแท้จริงแก่ชีวิต คล้ายกับที่ปัจจุบันเรียกว่าคุณภาพชีวิต) และจึงต้องการความจริง สิ่งที่ดีงาม หรือภาวะที่ดีงาม ต้องการทำให้ดีงามสมบูรณ์เต็มสภาวะ ฉันทะก่อตัวขึ้นจากโยนิโสมนสิการ คือความรู้จักคิดหรือคิดถูกวิธี คิดตามสภาวะและเหตุผล เป็นภาวะกลางๆ ของธรรม ไม่ผูกพันกับอัตตา และนำไปสู่อุตสาหะ หรือวิริยะ คือทำให้เกิดการกระทำ

ข้อควรย้ำในตอนนี้มี ๒ อย่าง คือ

ก. เพื่อจะแยกว่า เมื่อใครคิดพูดทำอะไร จะเป็นตัณหาหรือไม่ ถึงตอนนี้จะเห็นชัดว่า ความต้องการหรือกิจกรรมใดไม่เกี่ยวกับการหาสิ่งมาเสพเสวยเวทนา ไม่เกี่ยวกับการปกป้องรักษาหรือเสริมขยายความมั่นคงถาวรของอัตตา (ลึกลงไปแม้แต่การที่จะบีบคั้นลิดรอนอัตตา) ความต้องการหรือกิจกรรมนั้น ไม่ใช่เรื่องของตัณหา

ข. ข้อความว่า ตัณหานำไปสู่การแสวงหา ฉันทะทำให้เกิดการกระทำ นี้เป็นจุดสำคัญที่จะให้เข้าใจความแตกต่างระหว่างตัณหา กับฉันทะได้ชัดเจน เป็นขั้นออกสู่ปฏิบัติการ และเป็นขั้นตอนสำคัญที่มีผลในทางจริยธรรมเป็นอย่างมาก จึงจะหันมาพิจารณากันที่จุดนี้ต่อไป

ดังได้กล่าวแล้วว่า ตัณหาต้องการสิ่งที่จะเอามาเสพเสวยเวทนา ความสมประสงค์ของตัณหาอยู่ที่การได้สิ่งนั้นๆ มา วิธีการใดๆ ก็ตาม ที่จะให้ได้สิ่งนั้นมา เรียกเป็นคำเฉพาะในที่นี้ว่าการแสวงหา หรือปริเยสนา

ในการได้สิ่งเสพเสวยมาอย่างหนึ่ง วิธีการที่จะได้ อาจมีหลายวิธี บางวิธีไม่ต้องมีการกระทำ (เช่นมีผู้ให้) บางวิธีอาจต้องมีการกระทำ แต่ในกรณีที่ต้องมีการกระทำ สิ่งที่ตัณหาต้องการ จะไม่เป็นเหตุเป็นผลกันกับการกระทำนั้นโดยตรง ยกตัวอย่าง

นาย ก. กวาดถนน ได้เงินเดือน ๙๐๐ บาท

ถ้าหนูหน่อยอ่านหนังสือเล่มนี้จบ คุณพ่อจะพาไปดูหนัง

หลายคนคิดว่า การกวาดถนนเป็นเหตุให้ได้เงินเดือน จึงสรุปว่า การกระทำคือการกวาดถนนเป็นเหตุ เงินเดือนเป็นผล การได้เงินเดือนเป็นผลของการกระทำคือการกวาดถนน แต่ตามความจริงแท้ ข้อสรุปนี้ผิด เป็นเพียงระบบความคิดแบบสะสมเคยชินและหลอกตัวเองของมนุษย์

ถ้าจะให้ถูก ต้องเติมสิ่งที่ขาดหายไปแทรกเข้ามาด้วย ได้ความใหม่ว่า การกระทำคือการกวาดถนน เป็นเหตุให้ถนนสะอาด ความสะอาดของถนนจึงจะเป็นผลที่แท้ของการกระทำคือการกวาดถนน ส่วนการกวาดถนนแล้วได้เงินเดือน เป็นเพียงเงื่อนไขที่มนุษย์กำหนดวางกันขึ้น หาได้เป็นเหตุเป็นผลกันแท้จริงไม่ (เงินไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการกวาดถนน บางคนอาจกวาดถนนแล้วไม่ได้เงิน หรืออีกหลายคนได้เงินเดือนโดยไม่ต้องกวาดถนน)

คำพูดที่เคร่งครัดตามหลักเหตุผลในกรณีนี้ จึงต้องว่า การกวาดถนนเป็นการกระทำที่เป็นเหตุให้ถนนสะอาด แต่เป็นเงื่อนไขให้นาย ก. ได้เงินเดือน ๙๐๐ บาท

ในตัวอย่างที่สอง ก็เช่นเดียวกัน หลายคนคงคิดว่า การอ่านหนังสือจบเป็นเหตุ และการได้ไปดูหนังกับคุณพ่อเป็นผล แต่ความจริง การอ่านหนังสือจบเป็นเพียงเงื่อนไขให้ได้ไปดูหนัง ส่วนที่เป็นเหตุเป็นผลแท้จริงก็คือ การอ่านหนังสือจบ เป็นเหตุให้ได้ความรู้ในหนังสือนั้น การกระทำคือการอ่านเป็นเหตุ และการได้ความรู้เป็นผล


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |