| |
หลักศรัทธาโดยสรุป  |   |  

โดยสรุป ลักษณะที่ควรกล่าวถึง เพื่อเข้าใจความหมาย บทบาท และความสำคัญของศรัทธา ในระบบของพุทธธรรม มีดังนี้

๑. ศรัทธาเป็นเพียงขั้นหนึ่งในกระบวนการพัฒนาปัญญา และกล่าวได้ว่าเป็นขั้นต้นที่สุด

๒. ศรัทธาที่ประสงค์ ต้องเป็นความเชื่อความซาบซึ้งที่เนื่องด้วยเหตุผล คือมีปัญญารองรับ และเป็นทางสืบทอดส่งต่อแก่ปัญญาได้ มิใช่เพียงความรู้สึกมอบตัวมอบความไว้วางใจให้สิ้นเชิง โดยไม่ต้องถามหาเหตุผล อันเป็นลักษณะทางฝ่ายอาเวค (emotion) ด้านเดียว

๓. ศรัทธาที่เป็นความรู้สึกฝ่ายอาเวคด้านเดียว ถือว่าเป็นความเชื่อที่งมงาย เป็นสิ่งที่จะต้องละเสีย หรือแก้ไขให้ถูกต้อง ส่วนความรู้สึกฝ่ายอาเวคที่เนื่องอยู่กับศรัทธาแบบที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่นำมาใช้ในกระบวนการปฏิบัติธรรมให้เป็นประโยชน์ได้มากพอสมควรในระยะต้นๆ แต่จะถูกปัญญาเข้าแทนที่โดยสิ้นเชิงในที่สุด

๔. ศรัทธาที่มุ่งหมายในกระบวนการพัฒนาปัญญานั้น อาจให้ความหมายสั้นๆ ว่า เป็นความซาบซึ้งด้วยมั่นใจในเหตุผลเท่าที่ตนมองเห็น คือมั่นใจตนเอง โดยเหตุผลว่า จุดหมายที่อยู่เบื้องหน้านั้นเป็นไปได้จริงแท้ และมีค่าควรแก่การที่ตนจะดำเนินไปให้ถึง เป็นศรัทธาที่เร้าใจให้อยากพิสูจน์ความจริงของเหตุผลที่มองเห็นอยู่เบื้องหน้านั้นต่อๆ ยิ่งๆ ขึ้นไป เป็นบันไดขั้นต้นสู่ความรู้ ตรงข้ามกับความรู้สึกมอบใจให้แบบอาเวค ซึ่งทำให้หยุดคิดหาเหตุผลต่อไป

๕. เพื่อควบคุมศรัทธาให้อยู่ในความหมายที่ถูกต้อง ธรรมหมวดใดก็ตามในพุทธธรรม ถ้ามีศรัทธาเป็นส่วนประกอบข้อหนึ่งแล้ว จะต้องมีปัญญาเป็นอีกข้อหนึ่งด้วยเสมอไป1239 และตามปรกติ ศรัทธาย่อมมาเป็นข้อที่หนึ่ง พร้อมกับที่มีปัญญาคุมเป็นข้อสุดท้าย แต่ในกรณีที่มีปัญญา ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงศรัทธาด้วย1240


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |