| |
เรียนรู้ให้ชัด วิธีปฏิบัติต่อความสุข  |   |  

ความเท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น สอดคล้องกับหลักการทั่วไปเกี่ยวกับความสุข ตามคำสอนของพระพุทธศาสนา หลักการทั่วไป หรือหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนาสำหรับปฏิบัติต่อความสุข มี ๓ หัวข้อ ดังพุทธพจน์ว่า

ภิกษุทั้งหลาย ความพยายามจะมีผล ความเพียรจะมีผลได้อย่างไร? ภิกษุในธรรมวินัยนี้

(๑) ไม่เอาทุกข์ทับถมตน ที่ไม่มีทุกข์ทับถม

(๒) ไม่ละทิ้งความสุขที่ชอบธรรม

(๓) ไม่หมกมุ่นสยบในความสุข (แม้ที่ชอบธรรม) นั้น” 2152

แต่หลักการใหญ่นั้น ไม่ได้จบแค่ ๓ ข้อนี้ พระพุทธเจ้าตรัสต่อไปถึงตอนสำคัญ ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้เป็นข้อที่ ๔ ว่า พึงเพียรพยายามกำจัดเหตุแห่งทุกข์ให้หมดสิ้นไป ข้อนี้เป็นเกณฑ์ตัดสินสุดท้าย ที่จะให้ถึงจุดหมาย เพราะจะบรรลุธรรมสูงสุด สิ้นทุกข์สุขสมบูรณ์ ก็ต้องกำจัดเหตุแห่งทุกข์ให้หมดสิ้น

พร้อมกันนั้น การทำความเพียรเพื่อกำจัดเหตุแห่งทุกข์นี้ เมื่อว่าตามหลักของการปฏิบัติตามลำดับ ก็พูดได้อีกสำนวนหนึ่งว่า เพียรปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความสุขที่สูงขึ้นไป จนถึงสุขสูงสุดที่เป็นภาวะอันไร้ทุกข์โดยสิ้นเชิง

ดังนั้น จึงสรุปหลักที่ตรัสซึ่งจัดได้เป็น วิธีปฏิบัติต่อความสุข ๔ ข้อ ดังนี้

๑. ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่เป็นทุกข์

๒. ไม่ละทิ้งสุขที่ชอบธรรม

๓. แม้ในสุขที่ชอบธรรมนั้น ก็ไม่หมกมุ่นสยบ

๔. เพียรทำเหตุแห่งทุกข์ให้หมดสิ้นไป

(โดยนัยว่า เพียรปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสุขที่สูงขึ้นไปจนสูงสุด)

นี้เป็นหลักเกณฑ์มาตรฐาน ที่ชาวพุทธจะพึงใช้ปฏิบัติ ในการเกี่ยวข้องกับความสุข


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |