| |
ถึงจะยังบริโภคกามสุข ก็ต้องมีปัญญารักษาอิสรภาพไว้ รู้หนทางปลอดภัยจากกามทุกข์  |   |  

อย่างไรก็ตาม พึงตระหนักว่า ตามปกติ กามสุข กับความสุขอย่างประณีตนั้น ไปด้วยกันไม่ค่อยได้ เพราะกามสุขพัวพันอยู่กับอารมณ์ที่ให้ตื่นเต้น ประกอบด้วยความเร่าร้อนกระวนกระวาย หาอารมณ์มาสนองระงับให้เกิดความสงบ ส่วนความสุขประณีตเริ่มต้นจากความสงบ ดังจะเห็นว่า ฌานสุขจะเกิดขึ้น ต่อเมื่อจิตสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลายก่อน

ดังนั้น สำหรับปุถุชน การที่จะเสวยทั้งกามสุข และทั้งได้ความสุขประณีต โดยเฉพาะฌานสุขด้วย จึงเป็นไปได้ยาก เพราะปุถุชนพอใจอะไรแล้ว มักติด มักหมกมุ่นหลงใหลง่าย เมื่อฟุ้งซ่านกระวนกระวายเพริดไปด้วยแรงปรารถนากามสุขแล้ว ก็ยากที่จะให้สงบเข้าสู่แนวแห่งฌานสุข จึงปรากฏเรื่องราวที่ฤษีและนักบวชเสื่อมจากฌาน เพราะติดใจกามกันบ่อยๆ ต่อเมื่อเป็นอริยชน อย่างบุคคลโสดาบัน จึงจะอยู่กับกามสุขได้ด้วยดีโดยปลอดภัย

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนย้ำให้รู้จักวางใจอย่างถูกต้องต่อกามสุข ให้มีปัญญาที่จะสลัดตัวออกได้ ดังท่าทีในการปฏิบัติที่ตรัสไว้ต่อไปนี้

ในปาสราสิสูตร 2111 ท่านเปรียบกามคุณเหมือนบ่วงดักของนายพราน แล้วกล่าวถึงสมณพราหมณ์ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ไว้ ๓ พวก

พวกที่หนึ่ง คือ สมณพราหมณ์ที่บริโภคกามคุณทั้ง ๕ 2112 โดยมีความติด หลงใหล หมกมุ่น ไม่รู้เท่าทันเห็นโทษ ไม่มีปัญญาพาตัวรอด เป็นเหมือนเนื้อป่าที่ติดบ่วงและนอนทับบ่วงอยู่ ย่อมจะประสบความเสื่อมความพินาศ ถูกพรานทำเอาได้ตามปรารถนา


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |