ไปยังหน้า : |
วิภัชชวาทปรากฏบ่อยๆ ในรูปของการตอบปัญหา และท่านจัดเป็นวิธีตอบปัญหาอย่างหนึ่ง ในบรรดาวิธีตอบปัญหา ๔ อย่าง มีชื่อเฉพาะเรียกว่า “วิภัชชพยากรณ์” ซึ่งก็คือการนำเอาวิภัชชวาทไปใช้ในการตอบปัญหา หรือตอบปัญหาแบบวิภัชชวาทนั่นเอง
เพื่อความเข้าใจชัดเจนในเรื่องนี้ พึงทราบวิธีตอบปัญหา (ปัญหาพยากรณ์) ๔ อย่าง คือ
๑. เอกังสพยากรณ์ การตอบแง่เดียว คือตอบอย่างเดียวเด็ดขาด
๒. วิภัชชพยากรณ์ การแยกแยะตอบ
๓. ปฏิปุจฉาพยากรณ์ การตอบโดยย้อนถาม
๔. ฐปนะ การยั้งหรือหยุด พับปัญหาเสีย ไม่ตอบ
วิธีตอบ ๔ อย่างนี้ แบ่งตามลักษณะของปัญหา ดังนั้น ปัญหาจึงแบ่งได้เป็น ๔ ประเภท ตรงกับวิธีตอบเหล่านั้น จะยกตัวอย่างปัญหาตามที่แสดงไว้ในคัมภีร์รุ่นหลังมาแสดง ประกอบความเข้าใจ ดังนี้ 1384
๑. เอกังสพยากรณียปัญหา ปัญหาที่ควรตอบอย่างเดียวเด็ดขาด เช่น ถามว่า จักษุไม่เที่ยงใช่ไหม? พึงตอบได้ทีเดียวแน่นอนลงไปว่า ใช่
๒. วิภัชชพยากรณียปัญหา ปัญหาที่ควรแยกแยะ หรือจำแนกตอบ เช่น ถามว่า สิ่งที่ไม่เที่ยง ได้แก่ จักษุใช่ไหม? พึงแยกแยะตอบว่า ไม่เฉพาะจักษุเท่านั้น แม้โสตะ ฆานะ เป็นต้น ก็ไม่เที่ยง
๓. ปฏิปุจฉาพยากรณียปัญหา ปัญหาที่ควรตอบโดยย้อนถาม เช่น ถามว่า จักษุฉันใด โสตะก็ฉันนั้น โสตะฉันใด จักษุก็ฉันนั้น ใช่ไหม? พึงย้อนถามว่า มุ่งความหมายแง่ใด ถ้าถามโดยหมายถึงแง่ใช้ดูหรือเห็น ก็ไม่ใช่ แต่ถ้ามุ่งความหมายแง่ว่าไม่เที่ยง ก็ใช่
๔. ฐปนียปัญหา ปัญหาที่พึงยับยั้ง หรือพับเสีย ไม่ควรตอบ เช่น ถามว่า ชีวะ กับสรีระ คือสิ่งเดียวกัน ใช่ไหม? พึงยับยั้งเสีย ไม่ต้องตอบ
นี้เป็นเพียงตัวอย่างสั้นๆ ง่ายๆ เพื่อความเข้าใจเบื้องต้น เมื่อว่าโดยใจความ
ปัญหาแบบที่ ๑ ได้แก่ ปัญหาซึ่งไม่มีแง่ที่จะต้องชี้แจง หรือไม่มีเงื่อนงำ จึงตอบแน่นอนลงไปอย่างใดอย่างหนึ่งได้ทันที อีกตัวอย่างหนึ่งว่า คนทุกคนต้องตาย ใช่ไหม? ก็ตอบได้ทันทีว่า ใช่
ปัญหาแบบที่ ๒ ได้แก่ เรื่องซึ่งมีแง่ที่ต้องชี้แจง โดยใช้วิธีวิภัชชวาทแบบต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว
ปัญหาแบบที่ ๓ พึงย้อนถามทำความเข้าใจกันก่อน จึงตอบ หรือตอบด้วยการย้อนถาม หรือสอบถามไป ตอบไป อาจใช้ประกอบไปกับการตอบแบบที่ ๒ คือ ควบกับวิภัชชพยากรณ์