ไปยังหน้า : |
ในบรรดาทักขิไณยบุคคล หรือพระอริยบุคคล ที่ได้จำแนกแยกประเภทให้ทราบทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนมากนั้น ในฐานะที่พระอรหันต์เป็นบุคคลสูงสุด ผู้จบสิกขา เป็นอเสขะ เสร็จสิ้นภาวนา เป็นภาวิตแล้ว บรรลุจุดหมาย ไม่มีอะไรจะต้องทำเพื่อประโยชน์ตนอีกต่อไป เป็นผู้มุ่งบำเพ็ญปรัตถะ เพื่อประโยชน์สุขแห่งพหูชน เพื่อเกื้อการุณย์แก่ชาวโลก จึงควรแยกออกมาแสดงให้เห็นชัดเจนจำเพาะเป็นหมวดหนึ่ง
พระอรหันต์ ซึ่งมีทั้งหมด ๒ ประเภทนั้น แยกออกไปโดยคุณสมบัติพิเศษ ที่ได้ และไม่ได้ พร้อมทั้งความหมายสรุปอีกครั้งหนึ่ง ดังนี้
๑. พระปัญญาวิมุต คือ ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา ได้แก่ ท่านผู้มุ่งหน้าบำเพ็ญแต่วิปัสสนา อาศัยสมถะเพียงใช้สมาธิเท่าที่จำเป็น พอเป็นบาทฐานของวิปัสสนาให้บรรลุอาสวักขยญาณเท่านั้น ได้สมถะไม่เกินรูปฌาน ๔ ไม่มีความสามารถพิเศษ เช่น เข้านิโรธสมาบัติไม่ได้ ไม่ได้โลกิยอภิญญา ๕ เป็นต้น จำแนกได้ ดังนี้
ก. พระสุกขวิปัสสก ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน ได้สมาธิถึงระดับฌาน ต่อเมื่อถึงขณะแห่งมรรค
ข. พระปัญญาวิมุต ผู้ได้ฌาน ๔ อย่างน้อยขั้นหนึ่งก่อนแล้ว จึงเจริญวิปัสสนาที่ให้บรรลุอรหัตผล
ค. ปฏิสัมภิทัปปัตตะ ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา ๔ คือ ได้ปัญญาแตกฉาน ๔ ประการ821
๑) อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ หรือปรีชาแจ้งเจนในความหมาย
๒) ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม หรือปรีชาแจ้งเจนในหลัก
๓) นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุกติ หรือปรีชาแจ้งเจนในภาษา
๔) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ หรือปรีชาแจ้งเจนในความคิดทันการ