| |
เตรียมเข้าสู่มัชฌิมาปฏิปทา  |   |  

กล่าวโดยสรุป สำหรับคนทั่วไป ผู้มีปัญญายังไม่แก่กล้า ยังต้องอาศัยการแนะนำชักจูงจากผู้อื่น การเจริญปัญญา นับว่าเริ่มต้นจากองค์ประกอบภายนอก คือ ความมีกัลยาณมิตร สำหรับให้เกิดศรัทธา (ความมั่นใจด้วยเหตุผลที่ได้พิจารณาเห็นจริงแล้ว) ก่อน

จากนั้น จึงก้าวมาถึงขั้นองค์ประกอบภายใน เริ่มแต่นำความเข้าใจตามแนวศรัทธาไปเป็นพื้นฐาน ในการใช้ความคิดอย่างอิสระ ด้วยโยนิโสมนสิการ เป็นต้นไป ทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ และทำให้ปัญญาเจริญยิ่งขึ้น จนกลายเป็นญาณทัสสนะ คือการรู้การเห็นประจักษ์ในที่สุด1408

เนื่องด้วยศรัทธา เป็นองค์ธรรมสำคัญมาก ซึ่งเมื่อเป็นศรัทธาที่ถูกต้อง และใช้ถูกต้อง ก็จะเชื่อมต่อเข้ากับโยนิโสมนสิการ นำให้เกิดปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ

จึงขอสรุปเรื่องศรัทธา ในแง่ที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ไว้อีกครั้งหนึ่ง

๑. ในขั้นศีล ศรัทธาเป็นหลักยึด ช่วยคุ้มศีลไว้ โดยเหนี่ยวรั้งจากความชั่ว และทำให้มั่นคงในสุจริต ศรัทธาเพื่อการนี้ แม้ไม่มีความคิดเหตุผล คือไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็ใช้ได้ และปรากฏบ่อยๆ ว่าศรัทธาแบบเชื่อดิ่งโดยไม่คิดเหตุผลนั้น ใช้ประโยชน์ในขั้นศีล แน่กว่าศรัทธาที่มีการใช้ปัญญาด้วยซ้ำ

๒. ในขั้นสมาธิ ศรัทธาช่วยให้เกิดสมาธิได้ ทั้งในแง่ที่ทำให้เกิดปีติสุขแล้ว ทำให้จิตสงบนิ่งแนบสนิท หายฟุ้งซ่าน ไม่กระสับกระส่ายกระวนกระวาย และในแง่ที่ทำให้เกิดความเพียรพยายาม แกล้วกล้า ไม่หวั่นกลัว จิตใจพุ่งแล่นไปในทางเดียว เกิดความเข้มแข็งมั่นคง แน่วแน่ ศรัทธาเพื่อการนี้ แม้เป็นแบบเชื่อดิ่งโดยไม่ใช้ความคิดเหตุผล ก็ใช้ได้เช่นเดียวกัน

ในกรณีที่เป็นศรัทธาแบบเชื่อดิ่งโดยไม่ยอมคิดเหตุผล แม้จะใช้งานได้ผลทั้ง ๒ ระดับ แต่มีผลเสียที่ทำให้ใจแคบ ไม่ยอมรับฟังผู้อื่น และบางทีถึงกับเป็นเหตุให้เกิดการบีบบังคับเบียดเบียนคนอื่นพวกอื่น เพราะความเชื่อนั้น และที่สำคัญในเรื่องนี้คือ ไม่เกื้อหนุนแก่การเจริญปัญญา

๓. ในขั้นปัญญา ศรัทธาช่วยให้เกิดปัญญา เริ่มแต่โลกิยสัมมาทิฏฐิเป็นเบื้องแรก เหนือกว่านั้นไปศรัทธาเชื่อมต่อกับโยนิโสมนสิการใน ๒ ลักษณะ คือ

- อย่างแรก เป็นช่องทางให้กัลยาณมิตรสามารถชี้แนะความรู้จักคิด คือกระตุ้นให้คนผู้นั้นเริ่มใช้โยนิโสมนสิการ (มิฉะนั้นอาจไม่ยอมเปิดรับการชี้แนะหรือการกระตุ้นเลย)

- อย่างที่สอง ศรัทธาช่วยเตรียมพื้นหรือแนวของเรื่องที่จะพิจารณาบางอย่างไว้ สำหรับให้โยนิโสมนสิการนำไปคิดอย่างอิสระต่อไป ศรัทธาเพื่อการนี้ เห็นชัดอยู่ในตัวแล้วว่า ต้องเป็นศรัทธาที่มีการใช้ปัญญา และเป็นศรัทธาที่ต้องการในที่นี้


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |