| |
๒. ตัวบทและแบบความสัมพันธ์ ในหลักปฏิจจสมุปบาท  |   |  

พุทธพจน์ ที่เป็นตัวบทแสดงหลักปฏิจจสมุปบาทนั้น แยกได้เป็น ๒ ประเภท คือ ที่แสดงเป็นกลางๆ ไม่ระบุชื่อหัวข้อปัจจัย อย่างหนึ่ง กับที่แสดงเจาะจงระบุชื่อหัวข้อปัจจัยต่างๆ ซึ่งสืบทอดต่อกัน โดยลำดับเป็นกระบวนการ อย่างหนึ่ง

อย่างแรก มักตรัสไว้นำหน้าอย่างหลัง เป็นทำนองหลักกลาง หรือหลักทั่วไป ส่วนอย่างหลัง พบได้มากมาย และส่วนมากตรัสไว้ล้วนๆ โดยไม่มีอย่างแรกอยู่ด้วย อย่างหลังนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นหลักแจงหัวข้อ หรือขยายความ เพราะแสดงรายละเอียดให้เห็น หรือเป็นหลักประยุกต์ เพราะนำเอากระบวนการธรรมชาติมาแสดงให้เห็นความหมายตามหลักทั่วไปนั้น

อนึ่ง หลักทั้ง ๒ อย่างนั้น แต่ละอย่างแบ่งออกได้เป็น ๒ ท่อน คือ ท่อนแรกแสดงกระบวนการเกิด ท่อนหลังแสดงกระบวนการดับ เป็นการแสดงให้เห็นแบบความสัมพันธ์ ๒ นัย

ท่อนแรกที่แสดงกระบวนการเกิด เรียกว่า สมุทยวาร และถือว่าเป็นการแสดงตามลำดับ จึงเรียกว่า อนุโลมปฏิจจสมุปบาท เทียบในอริยสัจเป็นข้อที่ ๒ คือ ทุกขสมุทัย

ท่อนหลังที่แสดงกระบวนการดับ เรียกว่า นิโรธวาร และถือว่าเป็นการแสดงย้อนลำดับ จึงเรียกว่า ปฏิโลมปฏิจจสมุปบาท เทียบในหลักอริยสัจเป็นข้อที่ ๓ คือ ทุกขนิโรธ

แสดงตัวบททั้ง ๒ อย่าง ดังนี้

๑) หลักทั่วไป

ก. อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ   เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี

อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ   เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น

ข. อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ  เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี

อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ290    เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้ก็ดับ (ด้วย)

พิจารณาตามรูปพยัญชนะ หลักทั่วไปนี้ เข้ากับชื่อที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา 291

๒) หลักแจงหัวข้อ หรือ หลักประยุกต์

ก. อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา   เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี

สงฺขารปจฺจยา วิญฺาณํ   เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี

วิญฺาณปจฺจยา นามรูปํ   เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี

นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ   เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี

สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส   เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี

ผสฺสปจฺจยา เวทนา   เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี

เวทนาปจฺจยา ตณฺหา   เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี

ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ   เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |  
หนังสือที่เกี่ยวข้อง