| |
ง) ความคิดที่ไม่เป็นการศึกษา และความคิดที่เป็นการศึกษา  |   |  

การคิดพ่วงต่อจากกระบวนการรับรู้ กระบวนการรับรู้นั้น เริ่มต้นด้วยการที่อายตนะประสบกับอารมณ์1272 และเกิดวิญญาณ คือ ความรู้ต่ออารมณ์นั้น เช่น เห็น ได้ยิน ตลอดถึงรู้ต่อเรื่องในใจ เมื่อเกิดความเป็นไปอย่างนี้แล้ว ก็เรียกว่ามีการรับรู้ หรือภาษาบาลี เรียกว่า ผัสสะ

เมื่อมีการรับรู้ ก็จะมีความรู้สึกต่ออารมณ์นั้น เช่น สุข สบาย ทุกข์ ไม่สบาย หรือเฉยๆ เรียกว่า เวทนา พร้อมกันนั้น ก็จะมีการหมายรู้อารมณ์ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ชื่อนั้นชื่อนี้ เรียกว่า สัญญาจากนั้นจึงเกิดความคิด ความดำริตริตรึกต่างๆ เรียกว่า วิตักกะ

กระบวนการรับรู้เป็นไปอย่างนี้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการประสบอารมณ์ โดยได้รับประสบการณ์ภายนอก หรือการนึกถึงยกเอาเรื่องราวต่างๆ ขึ้นมาพิจารณาในใจ

เขียนให้ดูง่ายๆ โดยยกความรู้ทางตาเป็นตัวอย่าง




ขั้นตอนของการคิด (วิตักกะ) มีความสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดบุคลิกภาพ และวิถีชีวิตของบุคคล ตลอดจนถึงสังคม จึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการศึกษา แต่ความคิดนั้นจะเป็นอย่างไร ย่อมต้องอาศัยปัจจัยที่กำหนดหรือปรุงแต่งความคิดนั้นอีกต่อหนึ่ง

ปัจจัยอย่างหนึ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อความคิด ได้แก่ ความรู้สึกสุขทุกข์ (เวทนา)

ตามปกติ สำหรับคนทั่วไป เมื่อมีการรับรู้ และเกิดเวทนาแล้ว ถ้าไม่มีปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาแปร หรือตัดตอน เวทนาก็จะเป็นตัวกำหนดวิถีของความคิด คือ

- ถ้ารู้สึกสบาย เป็นสุข ก็ชอบใจ อยากได้ อยากเสพ อยากเอา (ตัณหาฝ่ายบวก)

- ถ้ารู้สึกไม่สบาย บีบคั้น เป็นทุกข์ ก็ขัดใจไม่ชอบ อยากเลี่ยงพ้นหรืออยากทำลาย (ตัณหาฝ่ายลบ)


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |