ไปยังหน้า : |
หรือ ภาคจริยธรรม (ธรรมสำหรับปฏิบัติ)
มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง คือ ทางแห่งการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา หมายความว่า เป็นอยู่โดยใช้ความรู้ความเข้าใจ มองเห็นความจริงที่เป็นกลาง ซึ่งเรียกว่ามัชเฌนธรรมเทศนานั้น ไม่เป็นอยู่อย่างเลี่ยงหนีความจริง ซึ่งทำให้ดำเนินชีวิตไปตามอำนาจความอยาก ความยึดถืออันเลื่อนลอย ที่คิดจะให้เป็น และไม่ให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ และฝากสุขทุกข์ไว้กับตัณหา
ขั้นต้น เมื่อยังไม่รู้แจ้งความจริงนั้นเอง ก็เป็นอยู่ด้วยความเชื่อถือ หรือค่านิยมที่สอดคล้องกับหลักความเป็นไปตามเหตุปัจจัย มีสำนึกในความรับผิดชอบต่อการกระทำตามเหตุตามผล หวังผลสำเร็จด้วยการกระทำ (ขั้นโลกิยสัมมาทิฏฐิ)
ในขั้นสูง เมื่อรู้แจ้งความจริงนั้นเองแล้ว มีจิตใจหลุดพ้นเป็นอิสระ ไม่ถูกกิเลสและความทุกข์บีบคั้นครอบงำ ก็เป็นอยู่ด้วยความรู้เท่าทันธรรมดาแห่งเหตุปัจจัยนั้นโดยสมบูรณ์ (ขั้นโลกุตรสัมมาทิฏฐิ) นี้เรียกว่า พุทธจริยธรรม คือ การครองชีวิตประเสริฐ หรือระบบการครองชีวิตอันประเสริฐ ถูกหลักพุทธธรรม (พรหมจริยะ หรือพรหมจรรย์) เป็นอริยมรรค คือ ทางดำเนินสู่ความดับทุกข์ที่ทำให้เป็นอริยชน หรือวิธีแก้ปัญหาแบบอารยชน
อริยชน กับปุถุชน ต่างกันในข้อสำคัญ คือ อริยชนมีความสุขไร้ทุกข์ เป็นพื้นประจำตัว ส่วนปุถุชนต้องทะยานหาความสุข เพราะมีความขาดสุข หรือมีทุกข์คอยเร้า ยืนพื้นอยู่เป็นประจำ จะพูดว่า อริยชนพ้นทุกข์ และเหนือสุข ก็ได้
หลักปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ หรือวิธีแก้ปัญหาของอารยชนนั้น มีหลักย่อย ๘ อย่าง จัดวางเป็นกระบวนการศึกษา อบรม ฝึก หรือพัฒนาคน ๓ ด้าน คือ
- ให้มีพฤติกรรมที่ร่วมสร้างเสริมสังคมดีงาม ซึ่งมีสภาพเกื้อกูลแก่คุณภาพชีวิต เอื้อแก่การพัฒนาจิตปัญญา โดยฝึก/พัฒนาระเบียบวินัย ความสุจริตกาย วาจา และแรงงานที่เป็นสัมมาชีพ เรียกง่ายๆ ว่า ศีล
- อาศัยสภาพแวดล้อม สังคม ความเป็นอยู่ภายนอกที่เอื้อนั้น เป็นพื้นฐาน ทำการฝึกอบรม/พัฒนาจิตใจให้ประณีต มีคุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพจิตที่ดี เรียกง่ายว่า สมาธิ
- ด้วยจิตที่ดีนั้น ก็สามารถฝึก/พัฒนาด้านปัญญา ให้เกิดความรู้ความเข้าใจในธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย ทำการด้วยความรู้ความเข้าใจนั้น จนบรรลุถึงปรีชาญาณที่ทำให้มีชีวิตแห่งความหลุดพ้นเป็นอิสระ เป็นอยู่ด้วยความผ่องใสเบิกบานตลอดทุกเวลา ในที่สุด เรียกง่ายว่า ปัญญา
การศึกษา/พัฒนาการนี้ อาศัยปัจจัย ๒ อย่างหล่อเลี้ยง
- ทั้งปัจจัยภายนอก ฝ่ายศรัทธา คือ อิทธิพลสภาพแวดล้อมดี ที่เรียกว่า ปรโตโฆสะที่ดี โดยเฉพาะกัลยาณมิตร
- และปัจจัยภายในฝ่ายปัญญา คือ ความรู้จักคิด รู้จักทำใจ ที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ