ไปยังหน้า : |
ดังที่ว่าแล้ว หน้าที่ต่อมรรค ได้แก่ ภาวนา แปลว่า พัฒนา หรือเจริญ คือ ลงมือทํา ปฏิบัติ จึงมีคําที่เรียกรวมว่า “มรรคภาวนา”
เพื่อช่วยให้มรรคภาวนา คือการพัฒนากระบวนชีวิตนี้ก้าวหน้าไปอย่างดีที่สุด ก็จึงจัดตั้งระบบการศึกษาที่เรียกว่า “ไตรสิกขา” ขึ้นมา
เมื่อการศึกษาได้ผลดี มรรคภาวนาดําเนินไปสําเร็จสมบูรณ์ ก็ทําให้บุคคลนั้นๆ เป็น “ภาวิต” คือเป็นคนที่พัฒนาแล้ว แยกเป็น ๔ ด้าน คือ
๑. ภาวิตกาย มีกายที่พัฒนาแล้ว คือมีความสัมพันธ์ดีต่อสิ่งแวดล้อมด้านธรรมชาติและวัตถุธรรม รู้จักชื่นชมรมณีย์ ดูเป็นฟังเป็น กินเป็น ใช้เป็น
๒. ภาวิตศีล ศีลที่พัฒนาแล้ว คือมีความสัมพันธ์ที่ดีงามเกื้อกูลกับสิ่งแวดล้อมทางสังคม อยู่กันด้วยไมตรี ไม่เบียดเบียน ช่วยเหลือกัน
๓. ภาวิตจิต มีจิตใจที่พัฒนาแล้ว คือมีคุณภาพจิตดี มีคุณธรรม จิตใจเข้มแข็ง เช่น พากเพียร อดทน มีสติ มีปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิ
๔. ภาวิตปัญญา มีปัญญาที่พัฒนาแล้ว คือมีความรู้เข้าใจเข้าถึงสัจธรรม ที่ทําจิตใจให้เป็นอิสระ รู้จักใช้ปัญญาแก้ปัญหา และทําการให้สําเร็จ