ไปยังหน้า : |
ชุมชน หรือสังคม ตามหลักการของพระพุทธศาสนา ประกอบด้วยผู้คนมากมายซึ่งกำลังก้าวเดินอยู่ ณ ตำแหน่งแห่งที่ต่างๆ บนหนทางสายใหญ่สายเดียวกัน ซึ่งทำไปสู่จุดหมายปลายทางเดียวกัน และคนเหล่านั้นก้าวออกมาจากจุดเริ่มต้นที่ต่างๆ กัน
พูดอีกอย่างหนึ่งว่า สัตว์ทั้งหลายเจริญอยู่ในขั้นตอนต่างๆ แห่งพัฒนาการในอริยธรรม สังคมประกอบด้วยมนุษย์ซึ่งมีชีวิตที่พัฒนาอยู่ในระดับต่างๆ กัน เราต้องยอมรับความแตกต่างหลากหลายนี้ และจัดสรรเอื้ออำนวยความช่วยเหลือเกื้อกูลที่เหมาะกับเขาในการที่จะพัฒนาต่อไป
เมื่อมองดูการเดินทาง หรือพัฒนาการของมนุษย์ ในแง่ที่เกี่ยวกับเรื่องเทวดา ก็จะเห็นลำดับขั้นแห่งพัฒนาการ เป็น ๓ ขั้น คือ
ขั้นที่ ๑ ขั้นอ้อนวอนหวังพึ่งเทวดา จัดว่าเป็นขั้นก่อนพัฒนา
ขั้นที่ ๒ ขั้นอยู่ร่วมกันด้วยไมตรีกับเทวดา คือจุดเริ่มต้นของชุมชนแบบพุทธ หรือชุมชนอารยะ
ขั้นที่ ๓ ขั้นได้รับความเคารพบูชาจากเทวดา เป็นระดับพัฒนาการของผู้เข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา
ข้อควรย้ำก็คือ คนผู้ใดผู้หนึ่ง จะได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธ ก็ต่อเมื่อเขาก้าวพ้นจากขั้นอ้อนวอนหวังพึ่งเทพเจ้า เข้าสู่ขั้นอยู่ร่วมกันด้วยไมตรี ซึ่งเขาจะดำเนินชีวิตด้วยความเพียรพยายามกระทำการตามเหตุผล เลิกมองเทวดาในฐานะผู้มีอำนาจ ที่จะต้องวิงวอนประจบเอาใจ เปลี่ยนมามองในฐานะเป็นญาติมิตรดีงามที่ควรเคารพนับถือมีเมตตาต่อกัน 1981 ไม่ควรมั่วสุมคลุกคลีกัน ไม่ควรรบกวนก้าวก่ายกัน และไม่ควรสมคบกันทำสิ่งเสียหายไม่ชอบด้วยเหตุผล
เมื่อมองพัฒนาการนั้นในแง่ที่เกี่ยวกับอิทธิปาฏิหาริย์ (รวมถึงอำนาจศักดิ์สิทธิ์เร้นลับอื่นๆ) ก็จะมีลำดับ ๓ ขั้นเหมือนกัน คือ ขั้นหวังพึ่ง ขั้นเสริมกำลัง และขั้นเป็นอิสระสิ้นเชิง
ขั้นที่ ๑ เป็นขั้นรอคอยอำนาจภายนอกดลบันดาล ทำให้หมกมุ่นฝักใฝ่ ปล่อยทิ้งเวลาความเพียรและการคิดเหตุผลของตน จัดเป็นขั้นก่อนพัฒนา หรือนอกชุมชนอารยะ
ขั้นที่ ๒ คือขั้นที่ทำอิทธิปาฏิหาริย์ได้เองแล้ว และใช้อิทธิปาฏิหาริย์นั้น เพื่อเสริมกำลังในการทำความดีอย่างอื่น เช่นในการช่วยเหลือผู้อื่นจากภัยอันตราย และเป็นเครื่องประกอบของอนุสาสนีปาฏิหาริย์