ไปยังหน้า : |
ขันธ์ทั้ง ๕ อาศัยซึ่งกันและกัน รูปขันธ์เป็นส่วนกาย นามขันธ์ทั้งสี่เป็นส่วนใจ มีทั้งกายและใจ จึงจะเป็นชีวิต กายกับใจทำหน้าที่เป็นปกติและประสานสอดคล้องกัน ชีวิตจึงจะดำรงอยู่ได้ด้วยดี ตัวอย่าง เช่น กิจกรรมของจิตใจ ต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับโลก ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยอาศัยอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งต้องกาย ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย อารมณ์ทั้งห้าก็ดี ตา หู จมูก ลิ้น กายก็ดี ต่างก็เป็นรูปธรรมอยู่ในรูปขันธ์ คือ เป็นฝ่ายกาย
อย่างไรก็ตาม ในที่นี้จะพูดเน้นด้านจิตใจ โดยถือกายเป็นเสมือนอุปกรณ์สำเร็จรูปที่สร้างขึ้นมารับใช้กิจกรรมของจิตใจ ถือว่าจิตใจเป็นศูนย์กลางแห่งกิจกรรมของชีวิต มีความกว้างขวาง ซับซ้อนและลึกซึ้งมาก เป็นที่ให้คุณค่าและความหมายแก่ชีวิต และเกี่ยวข้องโดยตรงกับพุทธธรรมที่จะกล่าวต่อไป
นามขันธ์ ๔ มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและส่งอิทธิพลเป็นปัจจัยแก่กัน การเกิดขึ้นของนามขันธ์ทั้งสี่เหล่านั้น ตามปกติจะดำเนินไปตามกระบวนธรรมดังนี้
“เพราะผัสสะ (ตา หู ฯลฯ + รูป เสียง ฯลฯ + วิญญาณ) เป็นปัจจัย การเสวยอารมณ์ (เวทนา) จึงมี; บุคคลเสวยอารมณ์ใด ย่อมหมายรู้อารมณ์นั้น (สัญญา), หมายรู้อารมณ์ใด ย่อมตริตรึกอารมณ์นั้น (สังขาร).....” 43
ตัวอย่าง:- นาย ก. ได้ยินเสียงระฆังกังวาน (หู + เสียง + วิญญาณทางหู) รู้สึกสบายหูสบายใจ (เวทนา) หมายรู้ว่าเป็นเสียงไพเราะ ว่าเป็นเสียงระฆัง ว่าเป็นเสียงระฆังอันไพเราะ (สัญญา) ชอบใจเสียงนั้น, อยากฟังเสียงนั้นอีก, คิดจะไปตีระฆังนั้น, อยากได้ระฆังนั้น, คิดจะไปซื้อระฆังอย่างนั้น, คิดจะลักระฆังใบนั้น ฯลฯ (สังขาร)
พึงสังเกตว่า ในกระบวนธรรมนั้น เวทนามีบทบาทสำคัญมาก อารมณ์ใดให้สุขเวทนา สัญญาก็มักกำหนดหมายอารมณ์นั้น ยิ่งให้สุขเวทนามาก ก็จะกำหนดหมายมาก และเป็นแรงผลักดันให้คิดปรุงแต่งทำการต่างๆ เพื่อให้ได้เสวยสุขเวทนานั้นมากขึ้น ความเป็นไปอย่างนี้ เรียกได้ว่าเป็นกระบวนธรรมง่ายๆ พื้นๆ เบื้องต้น เป็นแบบสามัญหรือแบบพื้นฐาน
ในกระบวนธรรมนี้ เวทนาเป็นตัวล่อและชักจูงใจ เหมือนผู้คอยเสนอให้เอาหรือไม่เอาหรือหลีกเลี่ยงอะไร สัญญาเหมือนผู้สะสมเก็บข้อมูลหรือวัตถุดิบ สังขารเหมือนผู้นำเอาข้อมูลหรือวัตถุดิบนั้นไปใช้ปรุงแปรตระเตรียมทำการ วิญญาณเหมือนเจ้าของงาน ใครจะทำอะไรคอยรับรู้ไปหมด เป็นทั้งผู้เปิดโอกาสให้มีการทำงานและเป็นผู้รับผลของการทำงาน 44
ในกระบวนธรรมนี้มีความซับซ้อนอยู่ในตัว มิใช่ว่าเวทนาจะเป็นตัวชักจูงผลักดันขันธ์อื่นฝ่ายเดียว ขันธ์อื่นก็เป็นปัจจัยแก่เวทนา เช่น เสียงดนตรี เสียงเพลงเดียวกัน คนหนึ่งได้ยินแล้ว สุขสบายชื่นใจ อีกคนหนึ่ง รู้สึกบีบคั้นใจเป็นทุกข์ หรือคนเดียวกันนั่นแหละ สมัยหนึ่งได้ยินแล้วเป็นสุข ล่วงไปอีกสมัยหนึ่งได้ยินแล้วเป็นทุกข์