| |
เศรษฐกิจจะดี ถ้ามีศีล  |   |  

ในเมืองไทยนี้ มีการขอศีล-ให้ศีล-รับศีล เป็นประเพณีที่รู้กันเป็นสามัญ เมื่อรับศีล ที่เรียกเป็นภาษาทางการว่า สมาทานเบญจศีลจบ พระผู้ให้ศีลก็กล่าวสรุปด้วยคำแสดงอานิสงส์ศีล ว่า “สีเลน สุคตึ ...” มีใจความว่า ด้วยศีล จะได้ไปสุคติ จะเกิดโภคสัมปทา คือความสมบูรณ์พรั่งพร้อมแห่งโภคะ และจะถึงนิพพาน

สาระที่เกี่ยวข้องในที่นี้ คือ ตอนที่ว่า ศีลทำให้เกิดทรัพย์สินเงินทองพรั่งพร้อม หรือพูดง่ายๆ ว่า ทำให้เศรษฐกิจดี แม้ว่าคาถาแสดงอานิสงส์ศีลนี้ จะเป็นของเรียบเรียงขึ้นในยุคหลัง ไม่พบในพระไตรปิฎกและอรรถกถาฎีกาทั้งหลาย แต่เมื่อกล่าวกันมาเป็นแบบแผน ก็ควรนำมาพูดไว้ พอเป็นเรื่องแทรกสั้นๆ

หลักการใหญ่ของศีล ก็คือ เป็นเครื่องจัดตั้งวางพื้นฐานเตรียมสิ่งแวดล้อมให้เรียบร้อยมั่นคง เพื่อจะได้ทำการใหญ่ๆ สำคัญๆ ทั้งหลายให้ก้าวไปได้ด้วยดี

ว่าถึงด้านเศรษฐกิจ ก็ชัดดังที่เคยพูดแล้ว ในทางสังคม เมื่อคนอยู่ในศีล ไม่มีอาชญากรรม ไม่มีภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน การสัญจรสะดวกปลอดภัย ไปได้ทุกที่ จะตั้งโรงงาน จะทำกิจการอะไรที่ไหน จะเดินทางไปทำงาน ไปซื้อไปขายไปจับจ่ายที่ไหนเวลาใด ไม่ว่าในเมืองหรือบ้านนอก ตรอกซอกซอยไหน ค่ำคืนดึกดื่นเท่าใด ปลอดโปร่งโล่งใจไปได้หมด คนงานกับนายจ้าง มีความสัมพันธ์กันดี มีน้ำใจซื่อตรงเกื้อหนุนกัน ระบบราชการงานเมืองสุจริต มีประสิทธิภาพ บรรดากิจการนานาประเภทน่าเชื่อถือไว้ใจได้ ทั้งคนใกล้คนไกล คนในถิ่นนอกถิ่นนอกประเทศ ติดต่อสื่อสารคมนาคม ไปมาราบรื่นร่าเริง การผลิต การพาณิชย์คล่องตัว นี่คืออย่างง่ายๆ ที่ศีลสร้างฐานทางเศรษฐกิจให้แก่สังคม เป็นความพร้อมที่จะก้าวขึ้นสู่ความรุ่งเรืองเฟื่องฟู

เมื่อบ้านเมืองมั่นคงดี ประชาชนมีความมั่นใจสูง ทีนี้ก็มาถึงตัวคน ว่าอย่างรวบรัด ด้านลบที่ขาดศีล เช่น เสเพล ลักขโมย ขี้ฉกขี้ฉ้อขี้โกงขี้เกียจขี้เมา เสียหายอย่างไร ขอข้ามไป ไม่ต้องพูดถึง พูดแต่ในแง่มีศีล ชาวบ้านที่ทำมาหาเลี้ยงชีพ เมื่อตกลงใจว่าจะอยู่ในศีล ถ้าแน่ใจตัวเองแล้วว่าจะตั้งใจทำมาหากินในทางสุจริต พอใจมุ่งดิ่งไปอย่างนี้ ความคิดที่จะหาช่องได้โน่นได้นี่ รอหาช่องทำนั่นทำนี่ในทางที่ไม่ถูกต้อง หรือจะคิดการทุจริตอะไร ก็ไม่มี แม้แต่รายการได้ของเผลอลาภลอย ก็ไม่นึกถึง ไม่มีเรื่องนอกที่จะมาแย่งเวลาแย่งความคิด

พอใจมุ่งแน่วมาที่เรื่องการงานอาชีพตรงเรื่องจริงๆ แล้ว ความคิดที่จะฟุ้งซ่านออกไปนอกทางไม่มี นี่คือเข้าทางของสมาธิแล้ว ทีนี้ อย่างที่ว่า ใจมุ่งมาที่เรื่องการอาชีพ ตั้งใจทำจริงจัง ก็คิดถึงแต่เรื่องการเรื่องงาน ว่าจะริเริ่มอะไร จะทำอะไรบ้าง จะดำเนินการอย่างไรให้ได้ผลดี มีอะไรจะติดขัดตรงไหนที่ไหน จะแก้ปัญหาอย่างไร จะติดต่อทำทางเปิดทางของงานอย่างไร ควรคบหาใคร ปรึกษาใคร ร่วมมือร่วมงานกับใคร อย่างไร ฯลฯ อย่างนี้ก็คือศีลส่งผลต่อมาที่จิต ด้านสมาธิกับปัญญามารับช่วงต่อ เดี๋ยวอิทธิบาท ๔ ก็ทยอยมากันครบ มีหวังสำเร็จแน่

ขอให้จับตรงนี้ให้ชัดว่า หน้าที่ของศีล อยู่ที่จัดฐานเตรียมสภาพแวดล้อมให้เรียบร้อยมั่นคงที่จะทำการต่อไปได้อย่างมั่นใจ ถ้าขาดศีล ก็ฐานเสีย พื้นผุโหว่ สภาพแวดล้อมไม่เอื้อ ถ้าไม่มีศีล ก็เริ่มไม่ได้ ถ้าเริ่มก็ง่อนแง่นโงนเงน พอสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยดีแล้ว ฐานมั่นพร้อมดีแล้ว ก็คือเข้าไปในวิถีของเรื่อง คือถึงตัวการงาน พูดภาษาพระก็คือ มีสมาธิที่จะทำงานทำการ แล้วถึงตอนนี้ พระพุทธเจ้าตรัสอะไร

ก็ขอรวบรัดอีกว่า มีกึ่งคาถาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นหลักประจำ เป็นประโยคเริ่มต้นคาถาสรุปคำสอนสำหรับชาวบ้านที่ทำงานทำการสร้างเนื้อสร้างตัว เพื่อชีวิตที่ดีมีความสำเร็จลุจุดหมายในโลกนี้ กึ่งคาถานี้ คือ 1485

“อุฏฺาตา กมฺมเธยฺเยสุ อปฺปมตฺโต วิธานวา”


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |