ไปยังหน้า : |
วิธีคิดแบบรู้ทันคุณโทษและทางออก หรือพิจารณาให้เห็นครบทั้ง อัสสาทะ อาทีนวะ และ นิสสรณะ เป็นการมองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเน้นการยอมรับความจริงตามที่สิ่งนั้นๆ เป็นอยู่ทุกแง่ทุกด้าน ทั้งด้านดีด้านเสีย และเป็นวิธีคิดที่ต่อเนื่องกับการปฏิบัติมาก เช่นบอกว่า ก่อนจะแก้ปัญหา ต้องเข้าใจปัญหาให้ชัด และรู้ที่ไปให้ดีก่อน หรือก่อนจะละสิ่งหนึ่งไปหาอีกสิ่งหนึ่ง ต้องรู้จักทั้งสองฝ่ายดีพอ ที่จะให้เห็นได้ว่า การละและไปหานั้น หรือการทิ้งอย่างหนึ่งไปเอาอีกอย่างหนึ่งนั้น เป็นการกระทำที่รอบคอบ สมควร และดีจริง
อัสสาทะ แปลว่า ส่วนดี ส่วนอร่อย ส่วนหวานชื่น คุณ คุณค่า ข้อที่น่าพึงพอใจ
อาทีนวะ แปลว่า ส่วนเสีย ข้อเสีย ช่องเสีย โทษ ข้อบกพร่อง (อาทีนพ ก็เขียน)
นิสสรณะ แปลว่า ทางออก ทางรอด ภาวะหลุดรอดปลอดพ้น หรือสลัดออกได้ ภาวะที่ปลอดหรือปราศจากปัญหา มีความสมบูรณ์ในตัว ดีงามจริง โดยไม่ต้องขึ้นต่อข้อดีข้อเสีย ไม่ขึ้นต่อ อัสสาทะ และอาทีนวะ ของสิ่งที่เป็นปัญหาหรือภาวะที่สลัดออกมานั้น (นิสสรณ์ ก็ได้)
การคิดแบบนี้ มีลักษณะที่พึงย้ำ ๒ ประการ
๑) การที่จะชื่อว่ามองเห็นตามเป็นจริงนั้น จะต้องมองเห็นทั้งด้านดี ด้านเสีย หรือทั้งคุณ และโทษของสิ่งนั้นๆ ไม่ใช่มองแต่ด้านดีหรือคุณอย่างเดียว และไม่ใช่เห็นแต่โทษหรือด้านเสียอย่างเดียว เช่น ที่ชื่อว่ามองเห็นกามตามเป็นจริง คือ รู้ทั้งคุณ และโทษของกาม1343
๒) เมื่อจะแก้ปัญหา ปฏิบัติ หรือดำเนินมรรควิธีออกไปจากภาวะที่ไม่พึงประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้น เพียงรู้คุณโทษ ข้อดีข้อเสีย ของสิ่งที่เป็นปัญหาหรือภาวะที่ไม่ต้องการเท่านั้น ยังไม่เพียงพอ จะต้องมองเห็นทางออก มองเห็นจุดหมาย และรู้ว่าจุดหมายหรือที่จะไปนั้น คืออะไร คืออย่างไร ดีกว่า และพ้นจากข้อบกพร่อง จุดอ่อน โทษ ส่วนเสีย ของสิ่งหรือภาวะที่เป็นปัญหาอยู่นี้อย่างไร ไม่ต้องขึ้นต่อคุณโทษ ข้อดีข้อเสียแบบเก่าอีกต่อไปจริงหรือไม่ จุดหมาย หรือที่ไป หรือภาวะปลอดปัญหาเช่นนั้น มีอยู่จริง หรือเป็นไปได้อย่างไร
ทั้งนี้ ไม่พึงผลีผลามละทิ้งสิ่งที่คิดว่าเป็นปัญหา หรือผลีผลามปฏิบัติ เช่น พระพุทธเจ้า ทั้งที่ทรงทราบแจ่มแจ้งว่ากามมีข้อเสีย มีโทษมากมาย แต่ถ้ายังไม่ทรงเห็นนิสสรณะแห่งกาม ก็ไม่ทรงยืนยันว่าจะไม่เวียนกลับมาหากามอีก1344
“ภิกษุทั้งหลาย ก่อนสัมโพธิ เมื่อยังเป็นโพธิสัตว์ ผู้ยังมิได้ตรัสรู้ เราได้มีความคิดว่า อะไรหนอคือส่วนดี (อัสสาทะ) ในโลก อะไรคือส่วนเสีย (อาทีนวะ) อะไรคือทางออก (นิสสรณะ)? เรานั้นได้มีความคิดว่า ความสุขความฉ่ำชื่นใจ ที่เกิดขึ้นด้วยอาศัยสิ่งใดๆ ในโลก นี้คือส่วนดีในโลก, ข้อที่โลกไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา นี้คือส่วนเสียในโลก, ภาวะที่บำราศฉันทราคะ เป็นที่ละฉันทราคะในโลกได้ (นิพพาน) นี้คือทางออกในโลก...