| |
มนุษย์กับเทวดา ความสัมพันธ์ใด ที่ล้าสมัย ควรเลิกเสีย  |   |  

เมื่อทราบฐานะของเทวดาแล้ว พึงทราบความสัมพันธ์ที่ควร และไม่ควร ระหว่างเทวดากับมนุษย์ต่อไป ในลัทธิศาสนาที่มีมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล เขาเชื่อว่ามีเทวดาใหญ่น้อยมากมาย และมีเทพสูงสุดเป็นผู้สร้างโลก และบันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งมนุษย์ไม่มีทางจะเจริญเลิศล้ำกว่าเทพนั้นได้ มนุษย์จึงสร้างความสัมพันธ์กับเทพด้วยวิธีอ้อนวอนขอความช่วยเหลือด้วยวิธีการต่างๆ เช่น สวดสรรเสริญ ยกย่อง สดุดี บวงสรวง สังเวย บูชายัญ เป็นการปรนเปรอเอาอกเอาใจ หรือไม่ก็ใช้วิธีเรียกร้องความสนใจ บีบบังคับให้เห็นใจ เชิงเร้าให้เกิดความร้อนใจจนเทพทนนิ่งอยู่ไม่ได้ ต้องหันมาดูแลหาทางแก้ไข หรือสนองความต้องการให้ ทั้งนี้ โดยใช้วิธีข่มขี่บีบคั้นลงโทษทรมานตนเอง ที่เรียกว่าประพฤติพรตและบำเพ็ญตบะต่างๆ

สรุปให้เห็นชัดถึงวิธีสัมพันธ์กับเทพเจ้าเป็น ๒ อย่าง คือ

๑. วิธีอ้อนวอนขอความช่วยเหลือ ด้วยการเซ่นสรวง สังเวย บูชายัญ ดังลูกอ้อนวอนขอต่อพ่อแม่ บางทีเลยไปเป็นดังประจบ และแม้ติดสินบนต่อผู้มีอำนาจเหนือ

๒. วิธีบีบบังคับให้ทำตามความประสงค์ ด้วยการบำเพ็ญพรตทำตบะ ดังลูกที่ตีอกชกหัวกัดทึ้งตนเอง เรียกร้องเชิงบีบบังคับ ให้พ่อแม่หันมาใส่ใจความประสงค์ของตน

แต่จะเป็นวิธีใดก็ตาม ย่อมรวมลงในการมุ่งหวังผลประโยชน์แก่ตน ด้วยการพึ่งพาสิ่งภายนอกทั้งสิ้น เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นแล้ว ก็ได้สอนให้เลิกเสียทั้งสองวิธี และการเลิกวิธีปฏิบัติทั้งสองนี้แหละ ที่เป็นลักษณะพิเศษของพระพุทธศาสนาในเรื่องนี้

ในการสอนให้เลิกวิธีปฏิบัติเหล่านี้ พระพุทธศาสนาสามารถแสดงเหตุผล ชี้ให้เห็นคุณโทษ และวางวิธีปฏิบัติที่สมควรให้ใหม่ด้วย


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |