ไปยังหน้า : |
ความมุ่งหมายของสมาธิที่ใช้อย่างถูกต้อง หรือพูดตามศัพท์ว่า ความมุ่งหมายของสัมมาสมาธินั้น เป็นที่ชัดเจน ดังได้กล่าวมาแล้วบ่อยๆ ว่า เพื่อเตรียมจิตให้พร้อมที่จะใช้ปัญญาอย่างได้ผลดี
พูดอย่างง่ายๆ ว่า สมาธิเพื่อปัญญา ดังบาลีที่เคยอ้างแล้วว่า “สมาธิ เพื่ออรรถคือยถาภูตญาณทัสสนะ (สมาธิ เพื่อจุดหมายคือการรู้เห็นตามเป็นจริง)”1589 บ้าง “สมาธิ มียถาภูตญาณทัสสนะ เป็นอรรถ เป็นอานิสงส์ (ความมุ่งหมายและผลสนองที่พึงประสงค์ของสมาธิ คือการรู้เห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น)”1590 บ้าง “จิตวิสุทธิ เพียงแค่มีทิฏฐิวิสุทธิเป็นอรรถ (การบำเพ็ญสมาธิให้จิตบริสุทธิ์ มีจุดหมายอยู่แค่จะทำความเห็นความเข้าใจให้ถูกต้องบริสุทธิ์)”1591 บ้าง
อีกทั้งอาจจะอ้างพุทธพจน์ต่อไปนี้ มาสนับสนุนด้วย
“สมาธิที่ศีลบ่มรอบแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก, ปัญญาที่สมาธิบ่มรอบแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก, จิตที่ปัญญาบ่มรอบแล้ว ย่อมหลุดพ้นโดยชอบเทียว จากอาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ”1592
แม้ว่าสมาธิจะมีความมุ่งหมายดังกล่าวมานี้ก็จริง แต่สมาธิก็ยังมีคุณประโยชน์อย่างอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากจุดมุ่งหมายนั้นอีก ประโยชน์บางอย่าง เป็นผลพลอยได้ ในระหว่างการปฏิบัติเพื่อบรรลุจุดหมายของสมาธินั้นเอง บางอย่างเป็นประโยชน์ส่วนพิเศษออกไป ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝนยิ่งกว่าธรรมดา บางอย่างเป็นประโยชน์ที่เกื้อกูล แม้แก่ท่านที่ได้บรรลุจุดหมายของสมาธิเสร็จสิ้นไปแล้ว
โดยสรุป พอจะประมวลประโยชน์ของสมาธิได้ ดังนี้
ก. ประโยชน์ที่เป็นจุดหมาย หรืออุดมคติทางธรรม: